การทำงานในยุคนี้ อะไร ๆ ก็เปลี่ยนแปลงไปมากมาย ตามกระแสโลกที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็ว จากยุคก่อนที่ภาคธุรกิจต่าง ๆ ขับเคลื่อนด้วยแรงงานเป็นหลัก ก็ต้องปรับตัวมาเป็นแรงงานฝีมือ หรือแรงงานที่มีความรู้เพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก งาน routine ที่ทำซ้ำเป็นประจำทุกวัน ก็ต้องเพิ่มนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ลงไป หรืองานบางอย่างจากที่เคยใช้ทักษะเพียงด้านเดียวก็กลายเป็นงานที่ต้องการทักษะหลาย ๆ ด้านประกอบกัน ทั้งหมดทั้งมวลนี้ “ความรู้” เป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญ ที่จะทำให้องค์กรต่าง ๆ ในยุคปัจจุบันเติบโตและอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนต่อไปภายภาคหน้า
ในเมื่อความรู้กลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญของภาคธุรกิจ “การจัดการความรู้” (Knowledge Management) จึงเป็นหัวใจสำคัญของทุกองค์กรที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นเลิศ jobsDB จะพาทุกองค์กรไปทำความเข้าใจ เล็งเห็นความสำคัญของการจัดการความรู้ และการใช้เครื่องมือที่ชื่อว่าความรู้ นำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เพื่อยกระดับองค์กรของคุณให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ความรู้ เกิดจากความไม่รู้
เพราะองค์กรส่วนใหญ่มักมีปัญหาเกี่ยวกับความรู้เกิดขึ้นอยู่ทุกขณะของกระบวนการทำงาน องค์กรของคุณเคยประสบปัญหาต่อไปนี้หรือไม่
– เวลามีปัญหาในการทำงาน คนทำงานไม่รู้ว่าจะไปถามผู้ที่เก่งในเรื่องนั้น ๆ ได้ที่ไหน
– การแบ่งปันความรู้มักเกิดขึ้นในวงแคบ เฉพาะคนทำงานที่สนิทสนมกันเท่านั้น และคนทำงานไม่ได้ถือว่าการแลกเปลี่ยนความรู้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน
– ไม่มีการเผยแพร่ความรู้ที่คนทำงานได้จากการไปประชุม อบรม สัมมนา ให้แก่คนทำงานอื่น ๆ ที่ไม่ได้ไป
– การค้นหาข้อมูลที่ต้องการ ส่วนใหญ่ใช้เวลานาน หาไม่ค่อยพบ หรือพบก็เป็นข้อมูลที่ไม่ทันสมัย ไม่สมบูรณ์ ไม่ตรงตามความต้องการ
– มักมีการทำงานผิดพลาดซ้ำ ๆ ในเรื่องเดิม ๆ เพราะขาดความรู้ที่ถูกต้อง ขณะเดียวกันองค์กรก็ไม่ค่อยมีการต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
– ความรู้อยู่ที่ตัวบุคลากร หากมีการเปลี่ยนแปลง เช่น เกษียณอายุ ลาออก ย้ายตำแหน่ง เปลี่ยนหน้าที่ มักจะเกิดผลกระทบกับงานและองค์กร
– องค์กรมี Best Practice แต่ไม่ค่อยนำมาใช้ หรือคนในองค์กรไม่รู้ว่า Best Practice ของตนคืออะไร
– องค์กรไม่มีการเก็บรวบรวมประสบการณ์ที่ได้จากการทำงาน โดยเฉพาะการดำเนินโปรเจกต์ใหญ่ ๆ สำคัญ ๆ
ปัญหาจากความไม่รู้เหล่านี้ ทุกองค์กรแก้ไขได้ด้วยการนำระบบ “การจัดการความรู้” เข้ามาใช้ในการทำงาน เพื่อให้บุคลากรที่ต้องการใช้งาน เข้าถึงความรู้นั้นได้ตลอดเวลา เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ยกระดับคุณภาพและมาตรฐานการดำเนินงาน ส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขัน ผลักดันให้เกิดการสร้างนวัตกรรม ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนาบุคลากร และเกิดการถ่ายโอนความรู้ไปทั่วทั้งองค์กรในที่สุด
สร้างสรรค์เครื่องมือการจัดการความรู้ขององค์กร
องค์กรไม่ว่าเล็กหรือใหญ่ก็สามารถเลือกใช้กระบวนการหรือเครื่องมือในการจัดการความรู้ที่หลากหลาย ให้สอดคล้องและเหมาะสมกับองค์กร เพื่อช่วยให้การค้นหา เข้าถึง ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนความรู้ สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
– ฐานข้อมูล เกิดจากการเก็บรวบรวมข้อมูลความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการทำงานขององค์กรให้เป็นระบบ ทั้งในรูปแบบเอกสาร และระบบเทคโนโยลีสารสนเทศ
– วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศ จัดเก็บในรูปแบบง่าย ๆ เพื่อความสะดวกในการค้นหาและนำไปใช้ เช่น บันทึก/คู่มือการจัดการความรู้ การจัดฝึกอบรม เป็นต้น
– การใช้เทคนิคการเล่าเรื่อง เผยแพร่สิ่งที่ได้เรียนรู้มาให้แก่ผู้สนใจหรือคนในกลุ่มงาน ทำให้เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง และกระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้ที่มีระหว่างกัน จนได้องค์ความรู้ที่ดีไว้ใช้ประโยชน์ในการทำงานได้ต่อไป
– การทบทวนหลังการปฏิบัติงาน ชวนคิดเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการทำงาน ให้คนทำงานได้พูดสะท้อนความคิดเห็นที่มีต่อการทำงานที่ผ่านมา ทำให้สมาชิกในทีมได้เรียนรู้ความสำเร็จ ความผิดพลาด และสิ่งที่ควรปรับปรุงแก้ไขในการทำงานครั้งต่อไป
– ระบบพี่เลี้ยง ถ่ายทอดองค์ความรู้ที่สั่งสมจากผู้ที่มีความรู้และประสบการณ์มากกว่าไปยังบุคลากรรุ่นใหม่
– การจัดตั้งทีมข้ามสายงาน เปิดมิติใหม่ในการทำงาน โดยอาศัยผู้เชี่ยวชาญจากหลาย ๆ ด้านมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และทำงานร่วมกันในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
– การประชุมระดมสมอง เพื่อปรึกษาหารือ กำหนดแนวทางแก้ไขปัญหา หรือตัดสินใจดำเนินการ ผ่านมุมมองและประสบการณ์จากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการจัดการความรู้ในองค์กร
การจัดการความรู้ขององค์กรจะเกิดขึ้นได้จริง และประสบผลสำเร็จได้หรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบและวิธีบริหารจัดการขององค์กรดังนี้
– บรรยากาศและวัฒนธรรมองค์กรเอื้อต่อการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนความรู้ เช่น การชมเชยและให้กำลังใจคนทำงานที่มีองค์ความรู้ การให้อิสระทางความคิดและการทำงานเชิงสร้างสรรค์ และเปิดโอกาสให้บุคลากรทุกคนได้พัฒนาความรู้ในตัวเอง
– ผู้บริหารระดับสูงเป็นแบบอย่างที่ดี มีส่วนร่วมในกิจกรรมการจัดการความรู้ ให้การสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
– มีการจัดตั้งทีมงานจัดการความรู้ขึ้นโดยเฉพาะ คัดเลือกบุคลากรจากหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อมาทำงานจัดการความรู้ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของบุคลากร และมีการสื่อสารกับบุคลากรอย่างสม่ำเสมอ
– บุคลากรได้รับทราบวัตถุประสงค์ของการจัดการความรู้ ว่าจะต้องทำอะไร ทำอย่างไร ทำแล้วได้อะไร ประเมินผลอย่างไร และจะปรับปรุงอย่างไร ปรับทัศนคติให้ถูกต้องว่าการจัดการความรู้เป็นส่วนหนึ่งของการทำงานประจำวัน และเต็มใจที่จะมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในการจัดการความรู้
– บุคลากรมีส่วนร่วมการจัดทำแผนการจัดการความรู้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจและการยอมรับ มองเห็นภาพรวมและทิศทางของการจัดการความรู้ในองค์กรได้ชัดเจน ส่งเสริมให้มีการดำเนินการตามแผนได้อย่างราบรื่นและครบถ้วน
– องค์กรควรมีเทคโนโลยีที่ใช้ในการจัดการความรู้ที่เหมาะสม ช่วยให้เกิดความสะดวกรวดเร็วในการรวบรวม จัดเก็บ เผยแพร่ความรู้ รวมทั้งเพิ่มแรงจูงใจในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของบุคลากร
เพราะความรู้คือจุดเริ่มต้นของความสำเร็จทุกประการ การจัดการความรู้จะเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยในการพัฒนาคน พัฒนางาน และพัฒนาองค์กรไปด้วยกัน พร้อมสร้างสรรค์ศักยภาพให้องค์กรเติบโตก้าวไปข้างหน้าได้อย่างยั่งยืน
แหล่งข้อมูล : okmd.or.th