รู้เกี่ยวกับเศรษฐกิจโลกในปี 2019 จากมุมมองของ KTB

มองภาพรวมปีนี้กันก่อน

KTB มองว่าปีนี้ GDP ของไทยจะโต 4.1% ปรับลดลงจาก 4.3% โดยไตรมาส 1-2 ปีนี้คาดว่าจะต่ำกว่า 4% เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้ผลดีจากสินค้าเกษตรที่มีปริมาณมาก อย่างไรก็ดีแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยจะแย่กว่าปีที่แล้ว เพราะว่าเรื่องของส่งออกและท่องเที่ยวชะลอตัวลง แต่จะได้การลงทุนจากภาครัฐและเอกชน

ทีมงานนักวิเคราะห์ของ KTB มองว่าเงินเฟ้อของไทยอยู่ประมาณ 1% สำคัญตรงราคาน้ำมันดิบ คาดว่าเฉลี่ยปีนี้ประมาณ 58 เหรียญสหรัฐฯ อาจทำให้เงินเฟ้อต่ำลง เป็นความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยอย่างมาก สินเชื่อคาดว่าโตได้ 5%

ภาพรวมเศรษฐกิจโลกปีนี้ที่จะเจอคือการเจริญเติบโตลดลงพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ ส่วนยุโรปเรื่องการเมืองวุ่นวายยังกดดันภาพรวมเศรษฐกิจ ทางด้านเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะฟื้นตัวและปลอดภัยมากที่สุดในกลุ่มประเทศพัฒนา สำหรับเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวลง แต่รัฐบาลจีนจะประคองตัวให้ได้ นอกจากนี้ความผันผวนของตลาดการเงินยังผันผวนที่สูงขึ้นด้วย

สำหรับเรื่อง 4 คำถามกำหนดทิศทางธุรกิจที่ต้องจับตาได้แก่

1. สงครามการค้า 

ทีมนักวิเคราะห์ของ KTB มองว่าในปีที่แล้วผลกระทบจากสงครามการค้ายังถือว่าน้อย แต่ปีนี้ทุกประเทศจะได้รับผลกระทบหนักๆ เต็มปี ถ้าหากสหรัฐฯ และประเทศจีนตกลงไม่ได้ภายใน 90 วันแล้ว สหรัฐฯ อาจขึ้นขยับขึ้นภาษีทั้งหมดจากจีน สูงสุดคือ 25% และถ้าจีนตอบโต้อาจขึ้นภาษีทั้งหมดเช่นกัน แต่มูลค่าของจีนจะน้อยกว่า

แต่การเจรจาล่าสุดนั้นมีเรื่องที่ดีบ้าง คือจีนพร้อมจะเจรจาในเรื่องนี้ โดยส่งตัวแทนระดับสูงมา นอกจากนี้จีนให้สัญญาว่าจะซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นด้วย แต่นักวิเคราะห์ของ KTB เองคิดว่าเรื่องนี้ยังไม่จบ เพราะว่าจีนยังเกินดุลสหรัฐฯ สูงสุดในรอบหลายปี ซึ่งสหรัฐฯ ไม่ยอมแน่นอน หวังว่าการเจรจาอีกครั้งคือปลายเดือนนี้ว่าจะมีสัญญาณที่ดี

มุมมองของนักวิเคราะห์ของ KTB คาดว่าวิธีที่ไวที่สุดในการจบสงครามการค้าคือ จีนอาจแข็งค่าเงินหยวนอีกประมาณ​ 15-20% แลกกับสหรัฐฯ ยกเลิกเงื่อนไขขึ้นภาษีจากจีน จะทำให้ผลไวที่สุด (คล้ายกับสมัยพลาซ่าแอคคอร์ดที่ทำกับญี่ปุ่นและเยอรมัน)

คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทย

  • กระจายความเสี่ยง หาตลาดใหม่และคู่ค้าเพิ่มเติม
  • ป้องกันความเสี่ยงจากค่าเงิน
  • ผู้ผลิตไทยที่เน้นตลาดจีนจะต้องสร้างความแตกต่าง หลีกเลี่ยงการลดราคาสู้ แต่ต้องเน้นไปด้านอื่นๆ เช่น บริการต่างๆ

2. เศรษฐกิจโลกจะถดถอยในปี 2020 หรือเปล่า

IMF ได้ปรับประมาณการของ GDP โลกลดลง แถมล่าสุดสหรัฐฯ ยังโดน Inverted Yield Curve ซึ่งปรับลงมาอยู่ที่ 0.18% ถ้าหากต่ำกว่า 0 จะถือว่าเศรษฐกิจใกล้สู่สภาวะถดถอยภายใน 24 เดือน ถ้าหากสหรัฐอเมริกาสะดุดอีกรอบจะทำให้เศรษฐกิจโลกสะดุดไปด้วย โดยเฉพาะช่วงหลังๆ นักวิเคราะห์จาก JPMorgan คาดว่า เศรษฐกิจทั่วโลกมีโอกาสถดถอยจะเกิดถึง 40% ส่วนทางด้าน Goldman Sachs มองสูงถึง 50%

มุมมองของ KTB มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังดูดีอยู่ แต่ที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดคือจีน โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ชะลอตัวลงไวกว่าคาด คาดว่าภาคการผลิตจะชะลอตัวลดลงไปถึงไตรมาส 1 ในปีนี้ ทำให้เกิดความกังวลจากหลายๆ บริษัทไม่ว่าจะเป็น Apple ฯลฯ ในอนาคตอันใกล้นี้ผู้ประกอบการจีนยังมีความเสี่ยงแน่นอน

คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทย

  • ผู้ส่งออกสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องสำอางค์ หรืออัญมณี จะต้องเริ่มหาตลาดใหม่นอกจากจีน
  • ผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มท่องเที่ยว ต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง

3. ดอกเบี้ยนโยบายขึ้นได้มากแค่ไหน

แม้ว่าในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะขึ้นดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว แต่คาดว่าปีนี้จะมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกแค่ 1 ครั้ง อีก 0.25% ในช่วงไตรมาส 3 เหตุผลเป็นเพราะว่า “นโยบายควบคุมสินเชื่อบ้านถือว่าบังคับไปในตัวแล้ว ทำให้ KTB มองว่าไม่ต้องขึ้นดอกเบี้ยอีกต่อไป”

ขณะที่ปลายทางดอกเบี้ยระยะยาวของไทย KTB มองว่าจะอยู่ที่ 3% ต่ำกว่าครั้งก่อนๆ ซึ่งคาดว่าจะสุดวัฏจักรดอกเบี้ย ประมาณช่วง 2020-2021

ประเด็นสำคัญที่จับตามองของ กนง. ในช่วงต่อไปคือเรื่องของเงินเฟ้อ คาดว่าเงินเฟ้อสูงสุดจะอยู่แค่ 2% เท่านั้น และเงินเฟ้อของไทยมักจะตามเงินเฟ้อเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา ขณะเดียวกันเงินเฟ้อไทยปัจจุบันก็ไม่น่าจะถึงเป้าที่ 2% ซึ่งเป็นความท้าทายของธนาคารแห่งประเทศไทยในอนาคตอีกด้วย

คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทย

  • ผู้ประกอบการจะพบกับต้นทุนการเงินที่เพิ่มขึ้น
  • ภายในปี 2019 KTB ประเมิน ดอกเบี้ย MLR จะเพิ่มขึ้น 0.16% ถึง 0.24%
  • หลังปี 2019 ดอกเบี้ย MLR เพิ่มขึ้นอีก 0.33% ถึง 0.48%

4. ภาคอสังหาของไทยหลังจากโดนควบคุม

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทยได้ออกมาตรการคุมภาคอสังหาริมทรัพย์ออกมา ทีมนักวิเคราะห์ของ KTB ได้นำกรณีศึกษาของ 3 แห่งคือ มาเลเซีย สิงคโปร์ ฮ่องกง มาเทียบกับกรณีของไทย คาดว่าท้ายที่สุดจะเหมือนกรณีที่มาเลเซีย ซึ่งพอมีมาตรการออกมาก็จะไม่กระทบต่อสินเชื่อที่อยู่อาศัย และจะไม่กระทบเยอะ เพราะว่าฟองสบู่อสังหาในประเทศไทยไม่เหมือนฮ่องกง และสิงคโปร์ ที่มีความร้อนแรงกว่า

คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการไทย

  • ผู้ประกอบการอสังหาต้องกระจายความเสี่ยงมากขึ้น เช่น เน้นกลุ่ม First Jobber เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้
  • หาตลาดใหม่ๆ มากขึ้น เช่น สำนักงานให้เช่า โกดังสินค้า หรือเน้นที่อยู่อาศัยสำหรับกลุ่มผู้สูงอายุ

(ของแถม) เรื่องของ LTF

สำหรับคำถามที่สงสัยกันว่าการที่ไม่มี LTF จะกระทบเศรษฐกิจไทยปี 2019 หรือเปล่า ทีมนักวิเคราะห์ KTB มองว่า ภาระภาษีที่ต้องเพิ่มขึ้นเนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีกองทุนออกมาทดแทน LTF นั้น อาจทำให้ภาคการบริโภคภายในประเทศลดลง ท้ายที่สุดแล้วคาดว่าจะกระทบภาครวมเศรษฐกิจไทยเพียงเล็กน้อย เหตุผลเพราะว่าผู้ลงทุน LTF มีประมาณ 3 แสนคนเองเท่านั้น  อาจกระทบกับภาคการบริโภคเพียงแค่ประมาณ 4,800 ล้านบาท

 

By Wattanapong Jaiwat