สิ่งที่หัวหน้ามือใหม่จำเป็นต้องรู้ในช่วงแรกของการรับตำแหน่ง

“ยินดีด้วยนะคะ สำหรับตำแหน่งใหม่”

สุรเดชหันไปยิ้มขอบคุณให้กับทุกคน หลังจากที่วันนี้มีการประกาศอย่างเป็นทางการถึงตำแหน่งใหม่ของเขา แม้จะรู้สึกดีใจมากจนหุบยิ้มไม่ได้ แต่สุรเดชก็อดตื่นเต้นและประหม่าไม่ได้ เพราะเขาเองไม่เคยเป็นหัวหน้ามาก่อน เขาต้องปรับตัวอย่างไรบ้างนะ ลูกน้องจะเชื่อฟังเขาไหม คำถามมากมายวนเวียนขึ้นในหัว

กว่าสุรเดชจะก้าวขึ้นมาเป็นหัวหน้าได้นั้นต้องผ่านการทำงานหนักและพิสูจน์ตัวเองมากมาย พอรับตำแหน่งแล้วก็มีเวลาให้ดีใจอยู่ได้ไม่นาน ก็ต้องเตรียมเจอกับภาระงานที่ท้าทายที่รออยู่ข้างหน้า ในช่วงเวลานี้นี่เองที่คนเป็นหัวหน้ามือใหม่จะต้องเจอกับความท้าทายที่ไม่เคยเจอมาก่อนในชีวิตการทำงาน ซึ่งวันนี้ JobThai ขอแนะนำ 5 สิ่งที่หัวหน้ามือใหม่ควรรู้ โดยเฉพาะในช่วงแรกของการรับตำแหน่ง เพื่อที่จะลดข้อผิดพลาด และยังเป็นการสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงให้กับทีมได้อีกด้วย

 

 

  • เริ่มต้นจากความมั่นใจก่อนว่าการที่เราได้รับตำแหน่งนั้นเป็นเพราะผู้บริหารเห็นศักยภาพและเชื่อมั่นในตัวเรา เพราะฉะนั้นตัดเรื่องความไม่มั่นใจทิ้งให้หมด
  • การเป็นหัวหน้าที่ดีไม่ใช่แค่สั่งเป็นอย่างเดียว ต้องรู้จักฟังให้มากขึ้นด้วย ซึ่งเทคนิคง่าย ๆ ในการเรียนรู้การเป็นหัวหน้างานที่ดี เริ่มต้นจากการถามตัวเองว่าก่อนหน้านี้ เราชอบหรือไม่ชอบให้หัวหน้าทำอะไรกับเราบ้าง
  • หาโอกาสพูดคุยกับผู้บริหารให้ชัดเจนถึงเป้าหมาย และความคาดหวังในตัวคุณ เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าต้องมุ่งไปทางไหนและจะได้วางแผนถูก
  • พิจารณาถึงความสามารถของลูกทีมแต่ละคน และดูว่างานที่ทำเหมาะกับพวกเขาไหม พร้อมเปิดโอกาสให้ลูกทีมได้มีการเสนอความคิดเห็น เล่าปัญหาในการทำงาน เพื่อที่จะได้วางแผนงานร่วมกัน
  • ต้องมองภาพใหญ่มากขึ้น จากที่เคยคิดแค่ขอบเขตงานตัวเอง หลังจากนี้คุณต้องมองถึงความสำเร็จของทีมเป็นอันดันดับแรก

 

 

1. เรียนรู้ที่จะเป็น “ผู้นำ” ไม่ใช่ “เจ้านาย”

ผู้บริหารเลือกคุณขึ้นมาก็แสดงว่าเขาเห็นแววผู้นำในตัวคุณอยู่แล้ว แต่หลายครั้งหัวหน้ามือใหม่ก็ยังเข้าใจผิดคิดว่าหน้าที่หลักของหัวหน้าคือการสั่งงาน ควบคุมงานให้เสร็จโดยที่ความคิดของหัวหน้าต้องเป็นใหญ่ที่สุด อย่าลืมว่าคุณยังไม่ได้สร้างผลงาน หรือมีการแสดงออกให้ทุกคนยอมรับ ถ้าคุณเข้ามาถึงแล้วเอาแต่สั่ง วางตัวเหมือน Big Boss คิดว่าลูกทีมคุณจะยอมรับไหม ซึ่งจริง ๆ แล้วภาวะผู้นำสามารถแสดงออกผ่านการกระทำได้หลายรูปแบบไม่ว่าจะการวางตัวเป็นแบบอย่างที่ดีให้ลูกทีมเห็น เป็นโค้ชที่คอยสอนงาน เป็นที่ปรึกษาที่ช่วยให้คำแนะนำ และเป็นเพื่อนที่ร่วมสังสรรค์กันบ้างในบางเวลา ถ้ายังคิดไม่ออกว่าต้องทำอย่างไร ให้ลองมองย้อนกลับไปถึงหัวหน้าเก่า ๆ ของคุณ ว่ามีพฤติกรรมใดที่พวกเขาทำแล้วลูกน้องอย่างคุณมีความสุข และอะไรที่พวกเขาทำแล้วคุณรู้สึกแย่

 

2. เมื่อไหร่ที่รู้ทิศคุณก็จะรู้ทาง รู้เป้าหมายก็ง่ายต่อการวางแผน

การได้รับตำแหน่งหัวหน้า ถือเป็นบทบาทใหม่ที่คุณไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน ซึ่งคุณก็อาจจะยังไม่แน่ใจในบทบาทตัวเองสักเท่าไหร่  มีหน้าที่อะไรบ้างที่เพิ่มขึ้นมา อำนาจการตัดสินใจมีมากแค่ไหน รวมถึงความคาดหวังจากผู้บริหารมีอะไรบ้าง ซึ่งวิธีที่ดีที่สุดคือการคุยกับผู้บริหารโดยตรง ว่าขอบเขตการทำงานของคุณอยู่ตรงไหน มีเรื่องใดบ้างที่ต้องให้ผู้บริหารตัดสินใจ สอบถามให้ชัดเจนว่ามีเป้าหมายใดที่คุณจะต้องทำให้สำเร็จในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งเป้าหมายที่ชัดจะช่วยให้คุณเห็นภาพว่าต้องทำอะไร หลังจากนั้นการวางแผนก็จะเป็นเรื่องง่าย

 

3. ใช้คนถูกงาน ผลลัพธ์ดีคนมีความสุข

หลายคนเมื่อเข้ามารับตำแหน่งใหม่ก็มักจะปล่อยให้ลูกทีมทำในสิ่งที่เคยทำโดยไม่ได้พิจารณาว่าแต่ละคนนั้นทำในสิ่งที่ตัวเองถนัดจริงหรือไม่ ซึ่งในขั้นตอนนี้ควรแบ่งเวลาเพื่อศึกษาลูกทีมของคุณแต่ละคนว่ามีทักษะด้านไหนบ้าง จุดแข็ง จุดอ่อนและสไตล์การทำงานของแต่ละคนเป็นอย่างไร หาโอกาสคุยกับลูกทีมเพื่อสอบถามความคิดเห็นและวางแผนการทำงานร่วมกัน ซึ่งนอกจากคุณจะได้คนที่เหมาะกับงานที่สุดแล้ว คุณอาจจะเจอความสามารถพิเศษบางอย่างที่หลบซ่อนอยู่ในตัวลูกทีมคุณก็ได้ เพราะบางคนเสียเวลาทำสิ่งที่ไม่ถนัดมาทั้งชีวิตแต่พอได้เปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ชอบก็อาจจะทำผลงานได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ

 

4. ความสัมพันธ์ภายในทีม สำคัญไม่แพ้ความสามารถ

บางครั้งต่อให้ทีมเรามีแต่คนเก่ง ๆ ก็ไม่ได้หมายความว่างานทุกอย่างจะสำเร็จได้ด้วยดี เพราะตัวแปรสำคัญอีกเรื่องหนึ่งก็คือนิสัยใจคอของแต่ละคน ซึ่งอย่างแรกเลยคุณจะต้องเข้าใจก่อนว่าคนมีความแตกต่างกัน ทั้งในเรื่องสไตล์การทำงาน นิสัยส่วนตัว ซึ่งคุณไม่สามารถที่จะไปเปลี่ยนแปลงเรื่องนี้ได้ สำคัญเพียงแค่ว่าคุณจะทำอย่างไรให้พวกเขาทำงานร่วมกันได้ดี โดยอาจจะจัดให้มีการประชุมทีมขึ้นเพื่ออธิบายถึงบทบาทหน้าที่ใหม่ของคุณ ชี้ชัดให้ทุกคนเห็นถึงเป้าหมายเดียวกันและเน้นย้ำว่าเป้าหมายจะสำเร็จได้ต้องมาจากความร่วมมือกันของทุกคน หลังจากนั้นหาเวลาพูดคุยเป็นการส่วนตัวกับลูกทีมเพื่อสอบถามถึงปัญหาที่พบในการทำงาน หรือ ความไม่สบายใจต่าง ๆ เพื่อที่จะปรับแก้และหาวิธีที่ลงตัวที่สุด

 

5. เปลี่ยนมุมมองใหม่ มองภาพใหญ่ และมองให้ไกลกว่าเดิม

ตอนนี้คุณมีลูกทีมที่ต้องรับผิดชอบแล้ว การที่คุณมัวแต่ก้มหน้าก้มตาทำงานหนักเพื่อทำงานของตัวเองให้เสร็จเหมือนเมื่อก่อนคงจะไม่เพียงพออีกต่อไป อย่าลืมว่าหน้าที่คุณนั้นเปรียบเสมือนกัปตันเรือ ที่ต้องรับผิดชอบลูกเรืออีกหลายชีวิต คุณไม่จำเป็นต้องออกแรงพาย แต่คุณจะต้องรู้ว่าหางเสือต้องหันไปในทิศทางไหน เสบียงมีพอหรือไม่ ใครมีหน้าที่ต้องทำอะไรบ้าง และต้องใช้ความเร็วเท่าไหร่เพื่อที่จะไปถึงจุดหมายได้ในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งนอกจากคุณจะต้องคอยดูแลการทำงานในภาพรวมแล้ว คุณยังต้องหมั่นมองไปข้างหน้าอีกด้วยว่ามีอุปสรรคหรือไม่ เพื่อที่คุณจะได้วางแผนรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างทันท่วงที

 

ช่วงแรกของการก้าวเข้ามาสู่ตำแหน่งนี้อาจจะดูวุ่นวายและต้องใช้เวลาในการปรับตัวอยู่บ้าง แต่ถ้าคุณเป็นคนที่ถูกเลือกมาอยู่ในตำแหน่งนี้แล้วแสดงว่าคุณเองก็ต้องมีดีเหมือนกัน การเรียนรู้ที่จะเป็นผู้นำที่ดีนั้นไม่สามารถจะทำให้สำเร็จได้แค่เพียงข้ามคืน แต่คุณจะต้องใช้เวลาในการสั่งสมประสบการณ์ สิ่งสำคัญที่สุดคืออย่าหยุดที่จะพัฒนาตนเอง เพราะวันข้างหน้ายังมีความท้าทายอีกมากมายที่รอคุณอยู่ในเส้นทางของการเป็นหัวหน้า