ในชีวิตการทำงานของพวกเราทุกคน เมื่อมีประสบการณ์และความรู้ความสามารถในระดับหนึ่ง เจ้านายของพวกคุณจะต้องเล็งเห็นความสามารถและต้องการผลักดันคุณให้ก้าวขึ้นสู่การเป็นหัวหน้างานเพื่อใช้ให้คุณถ่ายทอดความรู้ความสามารถให้กับลูกน้องของคุณ
แน่นอนว่าการถูกโปรโมทให้ทำงานในตำแหน่งงานใหม่ โดยเฉพาะการเป็นหัวหน้าทีม ถ้าคุณไม่มีประสบการณ์มาก่อน การทำงานในตำแหน่งนี้ย่อมเป็นความท้าทายใหม่ๆ ให้กับตัวคุณแน่นอน เพราะคุณจะทำพลาดไม่ได้เป็นอันขาด ถ้าคุณทำงานในตำแหน่งหัวหน้าได้ไม่ดี อนาคตในการก้าวขึ้นสู่ผู้บริหารก็คงจะไม่สดใสแน่นอน
ทุกคนคงทราบดีอยู่แล้วว่าปัญหาที่เกิดจากการทำงานออฟฟิศ ส่วนใหญ่มาจากปัญหาระหว่างเจ้านายกับลูกน้องเป็นสำคัญ ถ้าลูกน้องห่วย บางทีอาจจะต้องวิเคราะห์ให้ละเอียดนะครับว่ามีสาเหตุจากเจ้านายที่ไม่ดีหรือว่าลูกน้องทำตัวห่วย ขุนไม่ขึ้นกันแน่ แต่บอกเลยว่าส่วนใหญ่มักมาจากเจ้านายที่ไม่ดี ทำให้ลูกน้องทำงานไม่ได้เรื่องและเกิดปัญหาการลาออกครับ
ตอนเป็นลูกน้อง คุณอาจจะเคยเผชิญหน้ากับเจ้านายแย่ๆ นิสัยไม่ดี ทำให้คุณเอาเรื่องเจ้านายไปนินทากับเพื่อนร่วมงานได้ทุกวัน (ฮา) ดังนั้น ถ้าคุณได้ขึ้นเป็นหัวหน้างาน จงอย่าเอานิสัยแย่ๆ จากหัวหน้างานคนเก่าของคุณมาใช้นะ แต่ถ้าคุณเคยทำงานกับหัวหน้าที่ดี จงนำสิ่งดีๆ พวกนั้นมาลงมือทำตามแบบไม่ต้องลังเลเลยนะครับ
ทักษะการเป็นหัวหน้างานที่ดีมีแก่นแท้มาจากทักษะความเป็นผู้นำ (Leadership) ซึ่งเปรียบได้กับแม่ทัพซึ่งคอยกำหนดกลยุทธการทำงานให้กับลูกน้อง แตกฉานด้านการบริหารบุคคลเพื่อให้แสดงความสามารถได้เต็มศักยภาพ และที่สำคัญคือมี ‘ความรับผิดชอบ’ ที่พร้อมยืดอกรับแทนลูกทีมในกรณีที่เผชิญหน้ากับปัญหาและความเสียหาย
สำหรับใครที่มีทักษะความเป็นผู้นำที่ดี ผมขอพูดเลยว่าคุณมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือเป็นใหญ่เป็นโต ไม่ว่าจะเป็นการทำงานประจำหรือการออกไปเป็นเจ้าของกิจการในอนาคตแน่นอนครับ
ลองอ่านแนวคิดและทักษะการเป็นหัวหน้างานที่ดีจากผมดูครับ แล้วคุณจะรู้ว่าถ้าลูกน้องมีความเชื่อมั่นในตัวคุณ เป้าหมายในเนื้องานของคุณจะง่ายขึ้นเป็นกองเลย
1. ให้ความเป็นกันเองกับลูกน้องเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่ไม่ ‘ล้ำเส้น’ จนเกินไป
ความเป็นกันเองในที่นี้หมายถึงการมีมุมมองต่อลูกน้องด้วยความเป็นทีม อยู่ในระดับเดียวกัน ทำงานเพื่อเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่มองพวกเขาว่าอยู่คนละระดับกับคุณ คุณอยู่สูงกว่า ส่วนลูกน้องคุณต่ำกว่า การมีมุมมองแบบนี้มักจะใช้ไม่ได้กับการทำธุรกิจสมัยใหม่ โดยเฉพาะกับเด็กรุ่นใหม่ ซึ่งคุณไม่สามารถสั่งงานและมีลูกน้องคุณคอยรับคำสั่งอีกต่อไปแล้ว จงอย่าคิดว่าลูกน้องนั้นโง่ ทำอะไรไม่เป็น กระจอกกว่าคุณ คุณนั่นแหละมีหน้าที่ทำให้พวกเขาเก่งขึ้นมา
การทำกิจกรรมนอกเวลางานร่วมกับลูกน้องก็เป็นสิ่งที่สำคัญ เช่น กิจกรรมสันทนาการต่างๆ เล่นกีฬา ท่องเที่ยวแบบเอ้าท์ติ้ง (Outing) นอกสถานที่ มีปาร์ตี้เคล้าแอลกอฮอล์บ้างเพื่อละลายพฤติกรรม ก็นับว่าเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดี แต่สิ่งที่ควรระวังก็คือการล้ำเส้นหรือปล่อยให้ลูกน้องล้ำเส้นคุณมากจนเกินไป เช่น การเมาหัวราน้ำจนลืมเนื้อลืมตัว ลูกน้องเริ่มเล่นหัวได้ อย่างนี้ต้องระวัง เพราะพวกเขาจะให้ความเคารพคุณน้อยลง พอคุณเริ่มเอาจริงเอาจัง พวกเขาจะไม่ค่อยทำตามคำสั่งของคุณมากนัก จงรักษาเส้นแบ่งระหว่างหัวหน้ากับลูกน้องเอาไว้ให้ดีด้วย
2. งดใช้คำพูดหยาบคายกับลูกน้อง ไม่ว่าจะสนิทกันแค่ไหนก็ตาม
เรื่องนี้หลายคนคงเคยทำงานกับเจ้านายสมัยเก่า ที่เน้นการใช้คำพูดง่ายๆ บ้านๆ แบบกู มึง ในการพูดคุยหรือสั่งงานคุณ ขอบอกว่าจริงๆ แล้วคุณไม่ควรเอามาเป็นเยี่ยงอย่างนะครับ โดยเฉพาะกับลูกน้องสมัยใหม่ พวกเขาจะรู้สึกว่าคุณไม่ให้เกียรติ หรือต่อหน้ายิ้มรับแต่ในใจด่าคุณไอ้เหี้x ก็เป็นได้ นอกจากดูไม่เป็นมืออาชีพแล้ว ถ้าคนอื่นที่ไม่ใช่ทีมงานของคุณเข้ามาเห็น คุณย่อมโดนคนอื่นตัดสินว่าเป็นบุคคลที่หยาบคาย ไม่ได้เรื่องอีกต่างหาก
3. ยืดอกรับแทนลูกน้องในกรณีที่เกิดความผิดพลาดจากการทำงาน
ไม่ว่าลูกน้องคุณจะโดนลูกค้าด่าเละเทะแค่ไหนก็ตาม ช็อตนี้จะเป็นช็อตสำคัญที่ทำให้คุณได้โชว์ความเป็นผู้นำ นั่นคือการออกหน้ารับผิดแทนลูกน้อง ทำนัดเข้าพบลูกค้าที่ด่าลูกน้องของคุณทันที ขอโทษขอโพยและวางแผนแก้ไขปัญหาให้เร็วที่สุด เพียงเท่านี้คุณก็จะได้ความเชื่อมั่นจากลูกค้าและลูกน้องของคุณขึ้นมาอย่างไม่น่าเชื่อ ลูกค้าจะมองคุณว่ามีคุณช่วยรับผิดชอบปัญหา ส่วนลูกน้องก็จะรู้สึกใจชื้นที่คุณช่วยพวกเขาแก้ปัญหา หลังจากนั้นค่อยเรียกลูกน้องมาคุยเพื่อติเตียนและร่วมกันหาหนทางแก้ไขปัญหา
4. ช่วยลูกน้องแก้ปัญหาอย่างไม่มีความลังเล
จงเตรียมพร้อมและเปิดใจรับฟังปัญหาจากลูกน้องอย่างทั่วถึงเสมอ ประพฤติกับลูกน้องให้เปรียบเสมือน ‘ลูกค้า’ ที่ให้คุณเป็นที่ปรึกษาเพื่อช่วยแก้ปัญหาให้กับพวกเขา นำเสนอวิธีแก้ปัญหาอย่างจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือเรื่องใหญ่ สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้คุณได้รับการนับถือมากขึ้น
5. แสดงการทำงานที่ถูกวิธีให้ลูกน้องเห็นเป็นตัวอย่าง
งานหลายๆ อย่างต้องใช้ทักษะระดับสูง เช่น งานขาย งานทางด้านเทคนิค ฯลฯ เป็นหน้าที่ของคุณที่ต้องทำให้ลูกน้องดูเป็นตัวอย่าง เช่น ขายของให้ลูกน้องคุณดูให้เห็นทุกขั้นตอน ตั้งแต่การถามคำถาม นำเสนอ ตามงาน ไปจนถึงปิดการขาย เป็นต้น เพื่อให้ลูกน้องของคุณสามารถทำงานได้อย่างถูกวิธี มีที่ปรึกษาอย่างคุณคอยให้คำเสนอแนะและเป็นพี่เลี้ยงพวกเขาได้ วิธีนี้จะดีกว่าการนั่งแตกแอร์เย็นๆ ไปวันๆ แล้วปล่อยลูกน้องทำงานตามมีตามเกิด สาเหตุที่ลูกน้องทำงานห่วย จริงๆ แล้วอาจจะมาจากที่คุณไม่เคยสอนงานและทำให้ดูเป็นตัวอย่างเลยก็ได้
6. ห้ามตำหนิลูกน้องต่อหน้าคนอื่นเป็นอันขาด อย่าทำให้พวกเขาเสียหน้าต่อหน้าคนอื่น
เรื่องนี้สั้นๆ ง่ายๆ นะครับ ไม่ว่าใครก็ตาม ไม่มีใครอยากรู้สึกเสียหน้าต่อหน้าธารกำนัล ย้ำเลยนะครับว่าห้ามด่า แซะ เหน็บ กระแนะกระแหน ตำหนิ ด่า ฯลฯ ลูกน้องต่อหน้าคนอื่นเป็นอันขาด เพราะพวกเขาจะรู้สึกเสียหน้าอย่างรุนแรง ผูกใจเจ็บและเริ่มก่อหวอดหาจุดอ่อนของคุณ กลายเป็นสงครามภายใน การเมืองที่แก้ไขได้ยาก คุณจะเริ่มหมดความน่าเชื่อถือและโดนพวกเขาหาพวกสร้างศัตรูจนไม่เชื่อฟังคุณ ทำให้งานไม่คืบหน้า พอคุณไม่มีผลงาน สุดท้ายไม่คุณก็พวกเขานั่นแหละที่ต้องออกไปด้วยการโดนไล่ออกหรือลาออก
7. ระมัดระวังเรื่องภาพลักษณ์ทั้งการกระทำและคำพูดในช่วงเวลาการทำงานให้มากที่สุด
ทุกสิ่งทุกอย่างตั้งแต่คุณออกจากบ้านต้องมีความเป็นมืออาชีพ กันเองมากเกินไปก็ไม่ดี อย่าทำนิสัยส่วนตัวที่ไม่ได้เรื่องให้ลูกน้องรู้เป็นอันขาด เช่น แคะขี้มูก ชอบหลีสาว บ้าผู้หญิง กินเหล้าหัวราน้ำ เต้นแร้งเต้นกา หมุนเงินแบบเดือนชนเดือน ในหัวมีแต่เรื่องเซ็กส์ บ้าแบรนด์ บ้าผู้ชาย ฯลฯ อะไรทำนองนี้ เพราะนั่นหมายความว่าคุณกำลังสร้างจุดอ่อนให้ลูกน้องหาเรื่องทำลายคุณ ถ้าพวกเขายังชอบคุณก็ดีไป แต่ถ้าลูกน้องเริ่มไม่ชอบคุณเมื่อไหร่ ความลับแย่ๆ พวกนี้จะถูกนำไปพูดต่อจนความน่าเชื่อถือของคุณนั้นไม่มีเหลือ ระวังเอาไว้ให้ดีนะครับ
8. กำหนดกิจกรรมการทำงานให้กับลูกน้องอย่างเท่าเทียมและวัดผลได้
คุณควรกำหนดการทำงานให้กับลูกน้องทุกคนตามตำแหน่ง มีกิจกรรมที่วัดผลให้กับพวกเขาอย่างชัดเจน เช่น งานขาย คุณต้องกำหนดกิจกรรมที่วัดผลได้ให้กับพวกเขา เช่น โทรวันละกี่สาย ทำนัดวันละกี่นัด ส่งใบเสนอราคาวันละกี่ใบ เป็นต้น และอย่าใช้อคติกับลูกน้องเป็นอันขาด เพราะไม่งั้นความสามัคคีภายในทีมจะแตกสลายทันที เช่น คุณชอบลูกน้องคนนี้ จึงให้กิจกรรมหรือลูกค้าดีๆ กับคนนี้คนเดียว แต่กับอีกคน เพียงแค่คุณไม่ชอบขี้หน้า คุณจึงไม่กำหนดกิจกรรมอะไรและให้ลูกค้าห่วยๆ กับลูกน้องคนนี้อย่างเดียว ทำให้เขาไม่มีผลงาน อย่างนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ครับ
9. เป็นผู้รับแรงเสียดทานที่ดีระหว่างผู้ที่อยู่เหนือบังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชา
ถ้าคุณเป็นหัวหน้างานระดับกลาง เช่น ตำแหน่ง Supervisor หรือ Manager คุณจะต้องคอยเป็นผู้รายงานให้กับหัวหน้าของคุณอีกที เช่น ระดับ Vice President หรือ CEO ในกรณีที่ลูกทีมของคุณเรียกร้องความช่วยเหลือ ไม่ควรปล่อยให้ลูกน้องของคุณคุยตรงถึงระดับผู้บริหารเป็นอันขาด คุณควรเป็นผู้รับเรื่องและเดินเรื่องให้กับหัวหน้าของคุณอีกที ไม่งั้นผู้บริหารจะมองว่าคุณคุมลูกน้องได้ไม่ดี อีกทั้งยังเป็นการก้าวก่ายการทำงานระหว่างกันอีกด้วย
การเป็นตัวกลางเพื่อช่วยสื่อสารและรับแรงเสียดทานในเรื่องการบริหารงานจะทำให้ลูกน้องกล้าที่จะพูดถึงปัญหามากขึ้น ทำให้คุณรับรู้และช่วยดันเรื่องให้ผู้บริหารดำเนินงานให้กับคุณได้รวดเร็วมากขึ้น
10. ใส่ใจและสอดส่องการทำงานของลูกน้องให้ละเอียดถี่ถ้วน
ความใส่ใจที่ดีที่สุดคือการจัดประชุมเพื่อตรวจเช็คการทำงานอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ลูกทีมแชร์ความคิดเห็นหรือปัญหาใหม่ๆ และกำหนดวินัยให้กับทีมในการส่งรายงานการทำงาน (Report) เพื่อให้คุณสามารถใช้เวลาตรวจสอบการทำงานของลูกทีมได้อย่างทั่วถึงและใช้เวลาน้อย
ที่สำคัญคือจงหมั่นออกไป ‘คลุกฝุ่น’ เพื่อดูลูกน้องเวลาทำงานทุกครั้ง จะทำให้คุณเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นจากลูกน้องหลายอย่างเลยล่ะครับ ถ้าพวกเขาทำได้ไม่ดี คุณจะได้ช่วยพวกเขาและแก้ไขปัญหาได้ทันที ตามคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดีนั่นเอง
ผมคิดว่าทักษะการเป็นผู้นำที่ดีนั้นยังมีอีกหลายข้อ มีแหล่งข้อมูลหลายแหล่งให้คอยได้ศึกษาและทำตาม ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะรู้แล้วหรือยังไม่รู้ สิ่งที่สำคัญคือการลงมือทำเพื่อพัฒนะทักษะความเป็นผู้นำให้แข็งแกร่ง สามารถฝึกได้ทุกวัน แล้วคุณจะกลายเป็นหัวหน้างานหรือผู้นำที่ประสบความสำเร็จได้ครับ