7 เคล็ดลับป้องกันออฟฟิศซินโดรม

          เหน็ดเหนื่อย อ่อนล้ากันมาทั้งปีแล้วสำหรับการทำงาน…วันนี้มารีเช็คสุขภาพกันบ้างดีกว่า มีใครเคยได้ยินคำว่า “ออฟฟิศ ซินโดรม” ไหมครับ?? ถ้ายังไม่รู้ หรือใครเริ่มเป็นแล้ว วันนี้เรามีอาการ และ 7 วิธีง่ายๆ ช่วยป้องกันเจ้าอาการนี้มาฝากกันครับ 

          ออฟฟิศ ซินโดรม (Office Syndrome) คืออาการ ปวด คอไหล่ หลัง เกิดจากการทำงานและการใช้ชีวิตประจำวัน ยิ่งเฉพาะกับคนที่ทำงานกับคอมพิวเตอร์และกลุ่มคนไอทีทั้งหลาย ที่ต้องทำงานอยู่หน้าเครื่องคอมพิวเตอร์ทั้งวันจะเจอหนักกว่าเพื่อนเลย อย่าเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กๆ นะ เพราะบางคนที่ถึงกับกระดูกผิดรูป ตึง ยึดมาแล้วก็มี ก่อนอื่นไปเช็คอาการกันดีกว่า 

          อาการปวดโดยทั่วไปที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากสาเหตุหลัก 3 ประการ คือกระดูกและข้อ เส้นประสาท และกล้ามเนื้อซึ่งทำงานประสานกันอยู่ โดยอาการปวดที่เกิดจากกระดูกและข้อ อาทิ ขยับแล้วมีเสียงกรอบแกรบ ขยับแล้วเจ็บเสียวแปลบๆ คอยื่นไปข้างหน้า หลังค่อม หลังทรุด กระดูกสันหลังคด กระดูกสันหลังแอ่นงอ อาการปวดที่เกิดจากเส้นประสาท อาทิ กล้ามเนื้อไม่ค่อยมีแรง ชา กล้ามเนื้อกระตุก 

         อาการปวดที่เกิดจากกล้ามเนื้อ อาทิ ปวดเมื่อย อ่อนล้า เพลีย ตึง ยึด ปวดขึ้นไปที่ขมับ กล้ามเนื้ออักเสบ พังผืดสะสมบริเวณกล้ามเนื้อ รวมไปถึงอาการปวดกล้ามเนื้อต้นคอร้าวขึ้นไปบริเวณขมับ ปวดไปที่กระบอกตา ซึ่งเข้าใจผิดว่าเป็นไมเกรน

          รู้แบบนี้แล้ววันนี้รีบขยับร่างกายกันเลยดีกว่า ยืดบ้างอะไรบ้าง ถ้าใครไม่รู้ต้องทำยังไงเรามีเคล็ดลับป้องกันออฟฟิศซินโดรมมาฝากกันครับ

1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (Be Fit)

2.ระวังเรื่องของท่าทาง บุคลิกของตัวเอง อย่าไหล่ห่อ อย่านั่งค่อม

3.ในเรื่องของการยกของจากพื้นควรระวัง ใช้ท่าทางที่เหมาะสม เพื่อเป็นการป้องกันโรคหมอนรองกระดูกเคลื่อน

4.วางแผนการเคลื่อนไหวบนโต๊ะทำงาน โดยการจัดโต๊ะทำงาน หรือพื้นที่ทำงานให้เหมาะสม ควรจัดวางของที่ต้องใช้ให้ใกล้ตัว ใกล้มือ จะได้ไม่ต้องเอี้ยวตัวอยู่บ่อยครั้ง และไม่ต้องก้มตัวขึ้นลง หันซ้ายหันขวา ซึ่งอาจทำให้เกิดอาการเคล็ดได้

5.เมื่อเกิดอาการปวดเมื่อยอย่าฝืนร่างกาย ให้เดินไปดื่มน้ำ ไปเข้าห้องน้ำ 3-5 นาที ก็เป็นการแก้ปัญหาได้แล้ว เป็นการป้องกันปัญหาได้อีกด้วย

6.ระมัดระวังการใส่ส้นสูง ถ้าไม่จำเป็นก็ให้หลีกเลี่ยง แต่ถ้าจำเป็นต้องใส่ควรใส่ไม่เกิน 2 นิ้ว หรือ 4-5 เซนติเมตรเท่านั้น

7.การระมัดระวังเรื่องความเครียด เพราะความเครียดทำให้เกิดอาการปวดเมื่อยได้เช่นกัน

          รู้แบบนี้ไม่ยากใช่ไหมล่ะครับ อย่าลืมดูแลตัวเองกันนะครับ สู้ๆ กับการทำงานครับผม 🙂