มาเสกข้อมูลให้เป็น Data Visualization โดยใช้ Google Data Studio

ในองค์กรของเรา น่าจะมีอยู่น้อยคนนะ เน้นว่า น้อยคน นะ ที่จะเป็นคนที่ชอบทำสิ่งที่เรียกว่า “รายงาน” เพราะมันทั้งใช้เวลา ปวดหัว และน่าเบื่อเอามากๆ และหากย้อนกลับไปสมัยเรียน แค่ได้ยินคำว่า “รายงาน” เชื่อว่าหลายคนก็คงส่ายหัวยิก ๆ แล้วครับ แถมพาลเกี่ยงกับเพื่อนอีกต่างหาก ว่าคุณ(เมิง)ทำซิ ผม(กรู)ไม่อยากทำ 5555+++

พอเริ่มทำงาน ผมก็ยังมีความรู้สึกว่า “ถ้าหัวหน้าไม่ได้สั่ง รับรองว่ารายงานพวกนั้นไม่มีทางได้เกิดแน่นอน ฮาๆๆ” จนมาถึงตอนนี้ ผมก็ยังเชื่อว่า คนทำงานน้อยคนนะ ที่จะชอบทำรายงาน หรือที่เรียกกันเท่ห์ ๆ ว่า Reports ยิ่งเป็น Reports ที่จะต้องไปดึงข้อมูลมาจากหลาย ๆ ที่ หลาย ๆ ไฟล์ แล้วให้เอาข้อมูลมายำรวมอยู่ในไฟล์ Sheet / Excel หรือโปรแกรมตารางงาน เดียวกันด้วยแล้ว…หึหึ!!! ไม่อยากพูด มันใช้เวลาไม่ใช่น้อยเลยครับ! แถมบางทีกรอกข้อมูลผิดไปก็มี (แต่ก็ไม่มีคนรู้ เพราะว่าข้อมูลเยอะจริง ๆ ไม่มีใครมาตรวจ ฮาๆๆ)

ซ้ำร้าย หากว่าคนไหนโชคดี ทีม MKT ทีม Sale ทีม บัญชี หรือ คลัง ได้รับมอบหมายจาก MD, COO หรือ CEO ให้ทำ Reports เก็บตัวเลขมาส่งแทบจะทุกวัน ผมรับรองได้เลยว่า ทีมนั้นบันเทิงแน่นอน

คิดเหมือนผมไหมครับว่า แทนที่จะเอาเวลาไปทำงานที่สำคัญในส่วนอื่น ๆ แต่กลับต้องเอาเวลามานั่งทำรายงานต่าง ๆ พวกนี้แทน (โคตร)เสียเวลาเลยครับพี่น้องครับ (เรื่องนี้ผมจะอินเป็นพิเศษนิดนึง เพราะว่ามันคือประสบการณ์จริงของผมเลยครับพี่น้องคร๊าบ ฮาๆๆ)

จนวันนึงผมได้รู้จักกับเครื่องมือที่เรียกว่า Google Data Studio ต้องบอกว่าชีวิตดีขึ้นเยอะเลยนับแต่นั้น! เพราะมันสามารถ เสกข้อมูลให้เป็น Data Visualization ได้ในพริบตา

แต่ก่อนที่ผมจะบอกพวกคุณว่า Google Data Studio มันคืออะไร และดีอย่างไรนั้น

ผมขอถามพวกคุณนิดนึงก่อนครับว่า ทุกวันนี้พวกคุณใช้เวลาในการทำ Reports ต่าง ๆ ที่ว่ามาก่อนหน้านี้ไปเพื่ออะไรกันครับ?

บางทีผมก็มานั่งคิดนะ ว่าทำไมต้องมาเสียเวลาทำ Reports อะไรต่าง ๆ ให้มันยุ่งยากด้วย ข้อดีของการทำ Reports มันคืออะไร (เอาจริง ๆ ก็แค่หาข้ออ้างในการไม่ทำมันแหล่ะครับ ฮาๆๆ)

ซึ่งผมว่าเป้าหมายของการทำ Reports นั้น ผมว่าหลัก ๆ ก็คือ พวกเราต้องการที่จะรู้ว่า…

ตัวเลขวัดผลที่สำคัญ ๆ (KPIs) เป็นยังไง?
ทำตัวเลขได้ตามเป้า (Target) ที่วางไว้แล้วหรือยัง?
ขาดหรือเกินจากตัวเลขที่ตั้งเป้าไว้เยอะมั๊ย?
จะต้องปรับปรุงอะไรยังไงบ้าง? (Actions)
แล้วถ้าไม่ปรับปรุงจะมีผลอะไรเกิดขึ้นบ้าง (Impacts)

ผมว่าเรื่องพวกนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ Reports จะต้องทำหน้าที่ในการหาคำตอบให้กับเราได้ครับ

ซึ่งในปัจจุบันต้องบอกว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่เรามีนั้น มันมีอยู่เยอะแยะมากมายเต็มไปหมด มีจนล้นเกินไปด้วยซ้ำ จนบางครั้งทำให้เราไม่รู้ว่า จะต้องเอาข้อมูลอะไรมาวิเคราะห์บ้าง?

ยิ่งในยุคที่เรามีข้อมูลต่าง ๆ มากมายมหาศาลนั้น ผมคิดว่าการทำ Reports ที่ดีนั้น จะต้องช่วยให้ชีวิตของคุณดีขึ้นครับ

คือช่วยให้คุณทำงานน้อยลง แต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ซึ่ง Google Data Studio เป็นเครื่องมือนึง ที่จะสามารถช่วยคุณในเรื่องของการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นได้

ทีนี้มาดูประโยชน์ของการนำ Google Data Studio มาใช้งานกัน มาดูว่ามันจะสามารถทำให้ชีวิตของคุณดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง

เห็นแล้วเข้าใจได้ง่าย

ไม่ใช่มีแต่ตัวเลขอะไรก็ไม่รู้เป็นตารางเป็นแถว ๆ เต็มไปหมด

Reports บางอย่าง แค่เปลี่ยนจากตารางตัวเลขให้เป็นกราฟ ก็สามารถทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้นเยอะแล้วครับ

ยกตัวอย่าง การที่คุณมี Report หน้าตาแบบรูปด้านล่างนี้

กับหน้าตาแบบรูปด้านล่างนี้
คุณคิดว่า Report แบบไหนจะทำให้คุณเข้าใจได้ง่าย และก็วิเคราะห์ได้เร็วกว่ากันครับ?

ไม่มีข้อมูลเยอะจนเกินไป

หรือที่ฝรั่งเรียกกันว่า Analysis Paralysis เพราะว่ามันมีข้อมูลมาให้ดูจนเต็มไปหมด จนไม่รู้ว่าจะให้ดูตัวเลขไหนอะไรยังไง ตัวเลขไหนสำคัญหรือไม่สำคัญ ก็ไม่รู้!

มีความเกี่ยวข้องกับตัวเลขชี้วัดความสำเร็จ (KPIs)

เพื่อที่คุณจะได้รู้ว่าตอนนี้คุณทำได้ถึงเป้าหมายแล้วหรือยัง?

เข้าถึงได้ง่าย

คือคุณสามารถแชร์ Reports ให้กับทุกคนที่เกี่ยวข้องสามารถเข้าไปดูกันได้ เพื่อช่วยกันวิเคราะห์ข้อมูล และนำไปใช้ปรับปรุงต่อไป

อัพเดทข้อมูลได้รวดเร็ว

ไม่ใช่จะดู Reports ที ก็ต้องรอให้คนไปกรอกข้อมูลมาให้อีก 3 วัน! แบบนี้ไม่ทันการในยุค 5G นี้แน่ ๆ ครับ

สามารถดูข้อมูลจากหลาย ๆ แพลตฟอร์มได้ในที่เดียว

ไม่ใช่ต้องคอยสลับบราวเซอร์ไปมา เพื่อเข้าไปดูตัวเลขที่ Google ที แล้วก็เข้าไปดูที่ Facebook ที แบบนี้เสียเวลามากครับ

ที่ Google Data Studio คุณจะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ง่าย ๆ และก็เห็นภาพใหญ่ได้ทั้งหมดในที่เดียว ทำให้เข้าใจภาพรวมของธุรกิจของคุณได้ดีขึ้น

สามารถนำไปใช้ในการช่วยตัดสินใจในทางธุรกิจได้

คือไม่ใช่แค่มีตัวเลขสวย ๆ เอามาแสดงใน Reports กันอย่างเดียว อย่างน้อยควรจะมีการวิเคราะห์ออกมาแล้วบอกได้ว่า “แล้วจะต้องทำอะไรต่อ (What’s Next?)

ผมคิดว่ายังมีข้อดีของการทำ Reports อื่น ๆ ที่มากกว่านี้ ยังไงผมรบกวนพวกคุณให้ช่วยแชร์ไว้ใต้ Comments ของโพสนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับคนอื่น ๆ ได้ด้วยนะครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ

ทีนี้กลับมาเรื่องของเรากันต่อครับว่าแล้วไอ้เจ้า Google Data Studio คืออะไร?

Google Data Studio คืออะไร?

Google Data Studio ก็คือเครื่องมือ (ฟรี) ของทาง Google ที่คุณสามารถนำมาใช้ในการสร้าง Reports ต่าง ๆ ได้ง่าย ๆ หรือที่เรียกกันเท่ห์ ๆ ว่า “Data Visualization Tool” นั่นเอง

โดยที่คุณสามารถที่จะเลือกได้ว่า…

  • อยากจะเห็นข้อมูลอะไร (Dimensions) แล้วก็ตัวเลขอะไร (Metrics) บ้าง
  • จะแสดงผลเป็นแบบตารางง่าย ๆ หรือกราฟต่าง ๆ ก็ได้ตามใจชอบ คือคุณสามารถออกแบบดีไซน์หน้าตาของ Reports ต่าง ๆ ได้ด้วยตัวคุณเอง (เจ๋งมาก ๆ)

 

ฟีเจอร์ที่ผมชอบมากเป็นพิเศษก็คือ Google Data Studio (เรียกสั้น ๆ ว่า GDS) จะเป็นเครื่องมือสำหรับใช้ดึงตัวเลขจากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้เข้ามาแสดงผลให้อยู่ในที่เดียวกันได้ครับ

หมดปัญหาการ Copy & Paste ของข้อมูลจากหลาย ๆ ไฟล์อีกต่อไป (แถมบางที Copy มาผิดอีกต่างหาก 555)

ซึ่งการที่มีข้อมูลต่าง ๆ ใน GDS ที่เดียวนี้ จะช่วยให้คุณ…

  • สามารถเข้าใจรายงานต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น
  • นำไปวิเคราะห์ออกมาเป็นข้อมูลเชิงลึก (Insights) ได้ดีขึ้น
  • และก็นำข้อมูลเชิงลึกที่ได้ไปใช้ประโยชน์ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง และส่งผลในทางที่ดีขึ้นของธุรกิจของคุณต่อไป (Impacts) หรือจะเรียกว่า Business Conversions แบบผมก็ได้

 

อย่าลืมนะครับว่า ข้อมูลต่าง ๆ ที่คุณมี และได้ทำการเก็บข้อมูลเอาไว้นั้น…

ถ้าคุณไม่ได้นำมาใช้ในการวิเคราะห์ เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก แล้วนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์

ผมแนะนำว่า อย่าไปเสียเวลาในการทำ Reports ต่าง ๆ พวกนั้นกันตั้งแต่แรกเลยดีกว่าครับ เสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์!

เมื่อวิเคราะห์แล้ว คุณต้องนำข้อมูลเชิงลึกที่ได้มา ไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของคุณด้วยครับ

ถึงจะเรียกได้ว่า คุณเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลตัวจริง หรือเรียกเท่ห์ ๆ ว่า Analysis Ninja (ไม่ใช่เป็นแค่ Data Monkey ที่เอาแต่ Copy & Paste ตัวเลขต่าง ๆ ลงไฟล์ Excel อย่างเดียว)

ส่วนประกอบหลักของ Google Data Studio

Google Data Studio จะประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ ดังนี้

  1. Data Sources
  2. Reports

1. Data Sources

คือเป็นส่วนที่คุณระบุว่าจะให้ GDS ไปดึงข้อมูลมาจากที่ไหน ซึ่งในตอนนี้คุณสามารถที่จะดึงข้อมูลมาได้ “แทบจะทุกแพลตฟอร์ม” เลยก็ว่าได้

โดยที่ Google Data Studio จะใช้ Connectors เป็นตัวดึงข้อมูล (เรียกว่า Data Set) จากแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้เข้ามาอยู่ใน Data Source ของ Google Data Studio ตามรูปด้านล่าง

โดยที่ Connectors นี้จะมีอยู่ 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

  1. Google Connectors ทาง Google เป็นทีมพัฒนาเอง
  2. Partner Connectors ทาง 3rd-Parties เป็นทีมพัฒนา (มีทั้งแบบฟรีกับเสียตังค์)
มีมากกว่า 310 Connectors ให้คุณเลือกใช้ในการดึงข้อมูลเพื่อใช้งานที่ Google Data Studio

ไม่ว่าจะเป็น Google Analytics*, Google Ads, หรือตัวเลขจาก Facebook Ads คุณก็สามารถดึงข้อมูลมาใช้ผ่านทาง Connectors ของ Google Data Studio นี้ได้

หมายเหตุ: หากว่าคุณเพิ่มเริ่มต้นใช้งาน Google Analytics แนะนำให้อ่าน “มือใหม่อยากรู้ Google Analytics” เพิ่มเติมครับ เพื่ออรรถรสที่ดียิ่งขึ้น 😉

ทำให้คุณไม่ต้องเสียเวลาในการเตรียมข้อมูลอีกไป! เพราะว่า GDS จะดึงข้อมูลต่าง ๆ มาให้คุณได้แบบอัตโนมัติแทบจะ Real-time เลยก็ว่าได้ผ่านทาง Connectors พวกนี้ครับ

หมดปัญหากับการใช้เวลาทำรายงานให้กับเจ้านายของคุณอีกต่อไป!

2. Reports
หลังจากที่คุณสร้าง Data Source โดยเลือกใช้ Connector ที่ต้องการแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือเรื่องของการดีไซน์ออกแบบหน้าตาของ Reports ที่คุณอยากจะเห็น

แต่ก่อนที่คุณจะไปสร้าง Reports ใน Google Data Studio เลยได้นั้น คุณจะต้องตอบคำถามนี้ให้ได้ก่อนครับว่า…

…โจทย์ของคุณคืออะไร? แล้วข้อมูล (Dimensions) และก็ตัวเลข (Metrics) อะไร ที่จะสามารถตอบโจทย์ของคุณได้

เมื่อคุณรู้แล้ว คุณถึงจะสามารถออกแบบ Reports ที่คุณต้องการได้ โดยที่ใน Google Data Studio คุณสามารถเลือกรูปแบบในการแสดงข้อมูลได้ดังนี้

  • Table
  • Scorecard
  • Time Series
  • Bar
  • Pie
  • Google Maps
  • Geo Chart
  • Line
  • Area
  • Scatter
  • Pivot Table
  • Bullet
  • Treemap
ตัวอย่างรูปแบบของพวกกราฟต่าง ๆ ที่มีอยู่ใน Google Data Studio

ซึ่งการเลือกใช้รูปแบบกราฟต่าง ๆ ในการแสดงผลนั้น  ผมแนะนำให้คุณศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของ Data Visualization เพิ่มเติม คุณจะได้รู้ว่า “ข้อมูลแบบไหนควรจะแสดงผลในรูปแบบไหนดี”

อย่าลืมนะครับว่า ข้อมูลจะมีประโยชน์ก็ต่อเมื่อคุณสามารถนำมันไปใช้ประโยชน์ได้จริง ๆ

วิธีการเลือกกราฟมาใช้
ควรเลือกกราฟแบบไหนในการแสดงข้อมูล? Credit: https://looker.com/blog/different-types-graphs-charts-uses

เมื่อคุณออกแบบ Reports เรียบร้อยแล้ว คุณก็สามารถแชร์ให้กับคนอื่น ๆ เข้ามาดู Reports ของคุณได้ด้วย

ซึ่งการแชร์ Reports ของ Google Data Studio นั้น ง่ายมาก ๆ เพราะว่าเป็นวิธีการเดียวกับที่คุณแชร์พวก Google Docs, Google Sheet ต่าง ๆ นั่นเลย

ปุ่มแชร์ใน Google Data Studio
ปุ่มแชร์ Reports ใน Google Data Studio

นอกจากนี้คุณยังสามารถเลือกดูตัวอย่างของ Reports และ Dashboards ต่าง ๆ ที่มีการออกแบบเอาไว้แล้วอย่างสวย ๆ ให้คุณสามารถนำไปใช้งานกันได้เลยที่ Report Gallery.  

Templates ของ Reports ต่าง ๆ ใน Google Data Studio เพื่อเป็นไอเดียให้คุณเริ่มใช้งาน
Templates ของ Reports ต่าง ๆ ใน Google Data Studio เพื่อเป็นไอเดียให้คุณเริ่มใช้งาน

ผมอยากให้คุณลองเข้าไปค้นหาดู ไม่ว่าจะเป็น Reports ของ Google Analytics, Google Ads, Search Console (SEO)

หรือแม้จะเป็น Facebook Ads ก็มีตัวอย่างของ Reports ให้คุณเข้าไปใช้งานกันครับ

หมายเหตุ: หากว่าคุณต้องการดึงข้อมูลที่เกี่ยวกับ “โฆษณา Facebook” เพื่อนำมาใช้งานที่ Google Data Studio ผมแนะนำให้ใช้ Connector ของ “Facebook Ads By Supermetrics” ครับ

Supermetrics - Facebook Ads Connector

ขายของๆๆๆ เปิดคอร์สเรียน หลักสูตร Easy report Using Google Data Studio

มาเสกข้อมูลให้เป็น Data Visualization โดยใช้ Google Data Studio ผมคิดว่าไม่เกิน 1 ชั่วโมง คุณก็จะสามารถใช้งาน Google Data Studio กันได้แล้วครับ สมัครผ่าน Happily Module : University. เรียนแล้วสอบผ่านรับเลย 30 Coins เมื่อคุณนำ Google Data Studio มาใช้ในการทำ Reports ต่าง ๆ เป็นแล้ว มุมมองของคุณในเรื่องของการทำ Reports จะเปลี่ยนไปอย่างแน่นอนครับ