Happily.ai ฟันเฟืองแห่งการขับเคลื่อนความสุขของ DHAS

หากการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดของเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกทั้งหลาย คือคลื่นลูกใหญ่ที่กำลังโหมกระหน่ำและสร้างความปั่นป่วนให้ท้องทะเลแห่งโลกธุรกิจ DHAS ก็คือ เรือลำใหญ่ที่กำลังเปลี่ยนแปลงตัวเองเพื่อให้ฝ่าฟันคลื่นใหญ่ลูกนี้ไปให้ได้ ภายใต้การนำของ คุณดนุพล สยามวาลา  หนึ่งในทีมผู้บริหารระดับสูง ผู้เป็นกัปตันเรือของเรา พนักงานทุกคนก็คือลูกเรือที่อยู่บนเรือลำเดียวกัน การจะนำพาเรือใหญ่ลำนี้ไปสู่เป้าหมายในทิศทางใหม่ที่เราจะไปได้ตลอดรอดฝั่งนั้น Engagement คือเรื่องสำคัญที่เราต้องสร้างให้เกิดขึ้นให้ได้บนเรือลำนี้ 

และถ้าพูดถึงการปรับธุรกิจเข้าสู่ยุคดิจิทัลหรือ Digital Transformation หลายๆ คนจะนึกถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยเป็นอันดับแรก แต่ในความเป็นจริงการเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นภายในระยะเวลาสั้นๆ และจะไม่สามารถสำเร็จได้เลย ถ้าหากขาด ‘คน’ ที่พร้อมปรับตัว และก้าวไปข้างหน้าด้วยกัน

คุณดนุพล สยามวาลา COO of Digital Business SBU  ได้บอกพวกเราว่า  “ดี เอช เอ สยามวาลาเป็นครอบครัวใหญ่ มีสมาชิกในบ้านกว่า 1,000 คน ผมเชื่อว่า บุคลากรทุกคน คือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กร ให้ก้าวเดินไปข้างหน้า ฝ่ายบริหารจึงมีความคาดหวังให้พนักงานทุกคน เป็นทรัพย์สินถาวรขององค์กร อยากเห็นองค์กรเติบโต เจริญรุ่งเรือง รู้สึกภาคภูมิใจ อยากจะอยู่ในองค์กร และมีความผูกพันกับองค์กรในระยะยาว”

และนั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความผูกพันกับบุคลากรในองค์กร (Employee Engagement) ที่วันนี้ HRD Vshared จะนำทุกท่านไปรู้จัก Happily.ai แอปพลิเคชั่นที่เป็นกุญแจสำคัญ ในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในองค์กร ไม่ใช่เพียงเพื่อตอบคำถามแลกของรางวัลไปวันๆ

คุณทรีฟ แจเฟอรี่ หนึ่งในผู้บริหารระดับสูง ของบริษัท ดี เอช เอ สยามวาลา ผู้ริเริ่มแอปพลิเคชั่น Happily.ai แอปที่ช่วยสร้าง Engagement ระหว่างพนักงานกับองค์กร ท่านจบการศึกษาทางด้าน Materials Science and Engineering จาก Northwestern University และ MBA จากมหาวิทยาลัย Massachusetts Institute of Technology (MIT) และมีประสบการณ์หลายปีในการทำงานที่ Google มีความสนใจใน People Analytics และได้ทำงานวิจัยหลายชิ้น ทำให้รับรู้ถึงปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลภายในองค์กร และความสำคัญของคนภายในองค์กรเป็นอย่างดี จึงได้เริ่มทำแอปพลิเคชั่นที่เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาการสื่อสารระหว่างบุคคลภายในองค์กรที่ชื่อว่า ‘Happily.ai’

คุณทรีฟ ได้บอกกับทีมเราว่า

“Happly.ai  เกิดจากแนวคิด ที่ฝ่ายบริหารมองเห็นคุณค่าของพนักงานทุกคน และเชื่อว่า คน เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อนองค์กร เมื่อทุกอย่างมาอยู่ที่คนมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าการ จัดการคนในวันนี้อาจจะไม่ดีพอ เราได้คุยกับผู้นำองค์กรหลายๆคนว่า ปัญหาหลักในกระบวนการทางธุรกิจคือ คน อาจจะเจอปัญหาคนลาออก หรือเกิดคำถามขึ้นมาว่าทำไมพนักงานไม่เหมือนเมื่อก่อนเลย เราสามารถสรุปได้ว่าปัญหาส่วนมากจะเป็นเรื่องคน เราจึงนำหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้ปัญหาตรงนี้ชัดเจนมากขึ้นและเป็นสิ่งที่จะทำให้พนักงานมีความสุขมากขึ้นได้ ดังนั้น Happily.ai คือการนำเอา Design บวกกับ People Science และรวมเอาเทคโนโลยี AI เข้าไปด้วย ทั้งหมดนี้เพื่อการส่งเสริมและสร้างคุณค่าให้การดูแลพนักงานในองค์กรเกิดผลลัพธ์สุดว้าว”

คำถามที่เราอยากรู้คือ Happily.ai ช่วยสร้าง Engagement ภายในองค์กร ได้อย่างไร

Engagement คือ การที่พนักงานเขารู้สึกผูกพัน เป็นส่วนหนึ่งกับองค์กร ไม่ใช่แค่มาทำงานเพื่อเอาเงินแล้วจบ แต่เขาผูกพันกับงาน เป็นงานที่เขาทำแล้วรู้สึกภูมิใจ เมื่อพนักงานไม่ Engage กับงาน เขาอาจจะรู้สึกเหนื่อยหน่ายกับงานที่ทำจนอยากลาออก ไม่ได้รู้สึกว่าอยากทำให้สำเร็จหรือไปต่อได้มากกว่านี้ เพราะฉะนั้นเราเลยคิดว่า ถ้าเราเพิ่ม Engagement ให้เขาได้ ทุกอย่างมันจะดีขึ้น ต่อให้เขาเหนื่อยยังไง เขาจะสามารถรับมือกับความท้าทายของงานได้จะรู้สึกว่า ฉันทิ้งที่นี่ไปไม่ได้ เพราะที่นี่เป็นเหมือนครอบครัว เป็นงานของเขา พอเรามีความผูกพัน งานก็ออกมาดีกว่า ผลงานจะออกมาดีขึ้น คนก็จะลาออกกันน้อยลง และรู้สึกว่าจำนวนงานที่ออกมาคุณภาพจะดีกว่า เพราะเขารู้สึกว่าไม่ใช่แค่มาทำงานเพื่อให้ผ่านไป

ไอเดียหลักของ Happily.ai เป็นแอปที่จะยิงคำถามให้กับพนักงานทุกๆ คน ในทุกๆ วัน ซึ่งมีการตั้งค่าไว้ประมาณ 200 คำถาม ยิงตรงไปหาพนักงานวันละประมาณ 2-5 คำถาม และใช้เวลาไม่เกินนาทีก็ตอบได้ครบทั้งหมด ซึ่งคำถามจะถูกแบ่งออกเป็นหมวดหมู่ บางคำถามอาจถามได้เป็นรายสัปดาห์ บางคำถามก็ควรถามปีละครั้งซึ่งเราจะมีการออกแบบและกำหนดความถี่ในการส่งคำถามแต่ละแบบเอาไว้ให้  วิธีนี้องค์กรและหัวหน้างานจะได้รับฟีดแบ็กจากพนักงานแบบ real-time รู้ว่าพวกเขามีความรู้สึกอย่างไร กำลังพบปัญหาอะไรอยู่หรือไม่ หัวหน้าก็รู้ได้ทันทีและแก้ไขปัญหาได้ทันที

จุดเด่นของ Happily.ai ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ตัวแอปพลิเคชั่นเป็นเหมือนเกม ที่สร้างความสนุกและน่าสนใจ  ในทุกๆ ครั้งที่พนักงานตอบคำถาม พวกเขาก็ได้เหรียญสะสมและสามารถนำเหรียญนั้นเอาไปแลกเป็นของรางวัล เช่น กาแฟแบรนด์ดัง Gift Voucher เลือกซื้อสินค้า บัตรโดยสารรถไฟฟ้า หรือการได้นอนตื่นสายอีกหน่อยหรือกลับบ้านเร็วก่อนเวลาเลิกงาน 2 ชั่วโมง ฯลฯ 

“ตัวพนักงานเอง สามารถให้เหรียญกับเพื่อนร่วมงานได้เหมือนกัน ในเคสที่มองว่าเพื่อนร่วมงานคนนั้นช่วยงานเขาเป็นอย่างดี ถือเป็นการรับรู้และยอมรับผลงานของคนอื่นด้วย และระบบก็จะโชว์ให้เห็นว่าใครให้เหรียญใครบ้าง ซึ่ง Happily.ai จะไม่ใช่แค่การมองเห็นปัญหา แต่ยังช่วยสร้างประสบการณ์ที่มีความหมายที่ดีๆ ให้เกิดขึ้นในที่ทำงาน เพราะเวลาที่ใครสร้างผลงานดีๆ ขึ้นมาเขาคนนั้นควรได้รับยอมรับ ยกย่อง ซึ่งในองค์กรเวลานี้กลับไม่ค่อยมีเรื่องพวกนี้ ซึ่งเราคิดว่าเราเข้าไปเสริมให้ได้”

คุณอภิชญา หนึ่งในทีมพัฒนา Happliy.ai  ได้แบ่งปันกับ ทีม HRD Vshared ว่า “ด้วยการใช้ AI ทำให้สามารถเข้าใจบุคคลได้อย่างลึกซึ้ง เพราะทุกคนไม่ได้มีความคิดหรือค่านิยมที่เหมือนกัน เราจึงไม่สามารถคาดคะเนได้ การใช้ AI จะทำให้ได้ข้อมูลเชิงลึกที่แม่นยำยิ่งขึ้น และเราสามารถมอบประสบการณ์ที่เหมาะกับพนักงานได้มากขึ้น อีกทั้งฟีเจอร์ใหม่ โดยปกติ เราจะต้องทำงานด้วยกันเป็นเดือนเป็นปี ถึงจะรู้ทิศรู้ทางว่าคนในที่ทำงานของเราแต่ละคนมีลักษณะการทำงานแบบไหน

Happily Houses จะเข้ามาช่วยเสริมเรื่องของ teamwork และการทำงานร่วมกัน — โดยในแต่ละบ้านจะแสดงถึง work style ที่เป็น predominant หลักของแต่ละคน

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจสไตล์การทำงานของกันและกัน และลองปรับจูนวิธีการสื่อสารระหว่างกันได้ดียิ่งขึ้น ทำงานได้เข้าขากันได้ดียิ่งขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อมาชิกเข้ามาในบ้านแต่ละบ้านจะเริ่มเก็บ milestone เพื่อแข่งขันระหว่างกัน บ้านที่ถึงเป้าหมายได้ก่อน บ้านก็จะโตก่อน ได้ power-up ก่อน และยังมีอีกหลากหลายฟีเจอร์ ที่อยากให้ทุกคนเข้าไปลองใช้เพื่อ สร้างสัมพันธภาพที่ดีให้เกิดขึ้นในองค์กร”

และนี่คือความมุ่งมั่นตั้งใจของฝ่ายบริหาร ที่สร้างสรรค์เทคโนโลยีเข้ามาใช้ในการ Engagement คนในครอบครัว DHAS ทุกคน เพราะท่านเห็นว่า ทุกคน เป็นหัวใจสำคัญขององค์กร เราอยากให้ทุกคนที่มาทำงาน ได้รู้สึกว่าบริษัทใส่ใจและแคร์ความคิดเห็นของทุกคน การรู้สึกว่าตนเองมีโอกาสเติบโตก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เพราะ Need ของคนที่เข้ามาทำงานนั้นมีมากกว่าเรื่องรายได้และมีความหลากหลาย

ท้ายที่สุดเราอยากให้ Happily.ai ได้เข้ามามีเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยแก้ไขให้การสื่อสารและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลในองค์กรดีขึ้น และได้ช่วยทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานเพิ่มขึ้น