“ถ้า” ที่ไม่เข้าท่า

ปัจจัยหนึ่งที่คนเก่ง ๆ หลายคนกล่าวไว้ ความสำเร็จนั้น ส่วนหนึ่งพึงต้องลงมือทำทันที และสิ่งที่ทำให้ ทำทันทีไม่ได้นั้น ก็มาจากสารพันเหตุผลของเราเอง “ถ้าเป็น…, ถ้ามี…, ถ้าไม่.., ฯ ก็ทำได้อยู่หรอก” ผมเองก็เช่นกันที่คำว่า “ถ้า” เป็นข้ออ้างให้ไม่ทำอะไรหลายอย่าง

ผมอยากจะเรียกสิ่งนี้ว่า “ภาวะ” หรือ “สภาวะ” ในเวลาที่ความคิดของเราอยากจะได้ หรืออยากทำอะไรสักอย่าง ที่ไม่ง่าย ไม่ได้ทำเสร็จได้ทันที หรือไม่ใกล้ตัว เราก็ไม่เริ่ม ไม่ทำ หรือปล่อยค้างบนคำว่า “ถ้า” หากทบทวนกันดูแล้วเราจะพบว่า ในภาวะนั้นแรงกระตุ้นเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งแรงกระตุ้นนี้จะเป็นจากปัจจัยภายในหรือภายนอกก็ตามแต่

ยกตัวอย่างในมุมหนึ่งว่า ขณะที่เรานั่งนิ่งอยู่ที่เดิมนานพอ จนเมื่อย จนเป็นเหน็บชา หรืออะไรทำนองเดียวกัน เราก็คงต้องลุก ต้องขยับ ส่วนใหญ่เราคงไม่มีคว่า “ถ้า” ในภาวะแบบนี้ ที่จะมาคิดว่า “ถ้า…นั่น” ค่อยขยับนะ นี่หมายความว่า ความเมื่อยล้า มาเป็นตัวกระตุ้นแล้ว

แต่ถ้าไม่มีอะไรมากระตุ้น ยังไม่เมื่อย ยังไม่เป็นเหน็บชา เราก็ยังไม่ขยับ หลายคนคงทราบ การที่เราอยู่กับที่นาน ๆ เป็นผลเสียต่อร่างกายในระยะยาว.. ใช่แล้ว “ในระยะยาว” นี้เอง มันจึงเป็นสิ่งที่ไม่รู้สึกมีแรงกระตุ้น จนกว่าร่างกายจะส่งผล เรียกร้องให้กระทำ ซึ่งเมื่อร่างกายบังคับแล้ว ส่วนใหญ่จะ ไม่ใช่สัญญาณที่ดี ย่อมเกิด “ผลเสีย” ต่อเราไปแล้ว หรือสรุปง่าย ๆ ตรงนี้คือ “ผลเสียคือตัวกระตุ้น” ที่สามารถกระตุ้นให้เราไม่มีคำว่า “ถ้า” ได้.. แสดงว่าต้องให้เกิดผลเสียก่อนสินะ..

ในชีวิตประจำวันก็เช่นกัน หลายคนไม่เต็มใจทำในสิ่งที่ทำอยู่ เช่นงานประจำ ทำไปอย่างนั้นเอง “ถ้ารวยก็คงไม่ทำงานนี้หรอก” หลายคนเป็นเช่นนี้ ซึ่งคำว่า “ถ้ารวย” นี่เอง เป็นเรื่องระยะยาว และยากที่จะมีแรงกระตุ้น แต่เมื่อเริ่มขาดเงินใช้สอย หรือรู้อยู่แก้ใจในเชิงเป็นแรงกดดันว่าทุกวันต้องหาเงิน จึงไม่ลังเลที่จะทำงาน นี่ไงแรงกระตุ้นชั้นดี ตรงนี้พอมองเห็นอะไรไหม

ย่อยลงมา ในการทำงานหลายอย่าง เราก็ทำไปเช่นนั้นเอง ไม่ละเอียด หรือ ไม่เสร็จง่าย ๆ
“ถ้ามีเวลามากกว่านี้ก็ดีกว่านี้..”
“ถ้าลูกค้าไม่แบบนั้น แผนกโน้นไม่แบบนี้..”
“ถ้ามีเครื่องมือดีกว่านี้..”
“ถ้างานนี้สำคัญจริงก็จะตั้งใจกว่านี้..”
“ถ้าทำไปแล้วได้เงิน ได้ผลประโยชน์มากกว่านี้ก็จะดีกว่านี้..”
จนกว่าจะถูกเจ้านาย ตำหนิ เตือน เร่ง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้ละเอียด หรือเสร็จเร็วขึ้นได้

เราอาจไม่ได้ตั้งใจคิดหาเหตุผลในการละเลย, ไม่ทำ, ละทิ้งบางสิ่งไป แต่หากทบทวนดี ๆ จะพบว่า หลายสิ่งอาจจำเป็นต่อปัจจุบันและอนาคต แต่เราก็ยัง “ถ้า” กับมันอยู่ ที่สุดแล้ว อนาคต หรือหลายเป้าหมายของชีวิต ต้องเลือนหายไป (ตัวผมเองด้วยที่ไม่ได้ทำอะไรหลายอย่าง) เพียงเพราะไม่มีอะไรมากระตุ้น ยิ่งอายุมากขึ้น ยิ่งเห็นสิ่งที่พลาดไปในอดีตง่ายกว่า และเป็นเรื่องยากสำหรับคนอายุยังน้อย เพราะอาจยังเสียอะไรไปไม่พอ ที่ไม่ได้หมายถึงทุกคน บางคนอายุน้อยคิดได้ บางคนจนตายคิดไม่ได้ก็มี..

สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนั้น มักจะมีสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น เช่น ฐานะ, สังคม, การงาน ช่างน่าแปลก ที่เราเลือกให้สิ่งอื่น ๆ มากำหนดชีวิตของเรา ยิ่งไปกว่านั้นหลายครั้ง แรงกระตุ้น แรงบันดาลใจเกิดขึ้นแล้ว แต่เราก็ยังเลือกที่จะปล่อยมันเงียบหายไป บนความคิดที่บอกตัวเองว่า “ถ้า.. พร้อมกว่านี้” และที่ไม่พร้อมนั้น มันก็เพราะ (ปล่อยให้) มีปัจจัยสิ่งแวดล้อมกำกับชีวิตอยู่..

อะไรก็ตามเราก็ปล่อยให้สิ่งที่น่าจะเกิด กลับไม่เกิดขึ้นในชีวิต และนี่แสดงว่าเราไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ จึงโยนบาปให้คำว่า “ถ้า”

จากที่กล่าวมาจะสังเกตได้ว่าอะไรที่ นาน, ไกล, มีปัจจัยเยอะ หรือ มองยังไม่เห็นผลลัพธ์ เราจะไม่อยากทำ มันเป็นเรื่องอันปกติ เพราะขาดแรงจูงใจ แรงกระตุ้นอันต่อเนื่อง และจะให้มีแรงจูงใจตลอดก็เป็นเรื่องยาก ทางแก้อย่างหนึ่งซึ่งอยู่ในเรื่องนี้ก็คือ ไม่ต้องหาแรงจูงใจ แต่มองเห็นศัตรู

เมื่อใดที่เราคิดได้ว่าต้องการสิ่งใด และพอจะรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่ควรทำในวันนี้ หรือเพื่อวันข้างหน้า จงจับคำว่า “ถ้า” ในคำพูดหรือความคิดในใจ เราควรรีบหยุดตัวเองที่จะอ้างเช่นนั้น และ “หาวิธี” ลบคำว่าถ้าออกไป ในทำนองว่า ถ้าไม่ต้องมีถ้าล่ะ เราจะทำอย่างไร แม้กระทั่งจะบอกตัวเองอีกทีว่า “ถ้า ที่ไม่เข้าท่า” เชื่อว่า นี่จะเป็นการพัฒนาตนเองที่ดีมากประการหนึ่ง

จากที่กล่าวมา หากเราคิดหรือรู้สึกว่า เรา “ถ้า” บ่อย เราจะลองทำสิ่งนี้ดูหรือไม่ มันก็ตอบชัดในตัวมัน ถ้าอ่านแล้ว เรายัง “ถ้า” ในใจ นั่นแสดงว่า “ถ้า” ก็ยังอยู่ “ถ้าที่ไม่เข้าท่า” นี้ “ถ้าเลิกได้” เท่านั้น มันจะมีค่า..

เหมือนที่กล่าวไว้ตอนต้นว่า ผมเขียนเรื่องนี้เพื่อเตือนตนเองแท้ ๆ เลย เพราะหลายสิ่งที่ผ่านมาในช่วงก่อนหน้านี้ผมจัดการอะไร ๆ ได้ค่อนข้างแย่ อ้างเพียงว่า “ถ้า” มากไป เพราะอีกคำสำคัญคือ มากน้อยไม่เป็นไร ให้ได้ทำ ดีกว่าถ้า… แล้ว ปรากฏว่า ไม่มีอะไรคืบหน้าขึ้นเลย

ศัตรูที่ร้ายกว่า “ถ้า” คือหลอกตัวเองว่ามีเหตุผล..

สรุปซ้ำ

  1. อย่าต้องให้ผลเสียเกิดขึ้นก่อน มาเป็นตัวกระตุ้นนั่นหมายถึงอาจเสียสิ่งดีไปแล้ว
  2. คนที่ไม่สามารถกำหนดชีวิตตัวเองได้ จึงใช้คำว่า “ถ้า”
  3. “ถ้า” คือศัตรูของความก้าวหน้า