หลายคนคงเคยอ่านหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People เปลี่ยนชีวิตด้วยอุปนิสัยเจ็ดข้อ วันนี้ HRD VShared ขอสรุปแง่คิดที่มีประโยชน์ จาก หนังสือเล่มนี้เพื่อแบ่งปันเรื่องราวดีๆ สู่เพื่อน ชาว DHAS กันนะครับ
คนส่วนใหญ่ถามตัวเองว่าต้องทำอย่างไรถึงประสบความสำเร็จ โด่งดัง ร่ำรวย หรือเป็นที่รักของทุกคน?
“นั่นเป็นคำถามที่ผิด”
สตีฟ จ็อบส์ ไม่ได้สร้างบริษัทแอปเปิลได้เพราะเขา “รู้ว่าต้องทำอะไร” อีลอน มัสก์ ไม่ได้โด่งดังเพราะเขาบังเอิญรู้ว่าสิ่งประดิษฐ์ไหนถึงจะเปลี่ยนโลก คนเหล่านี้ไม่ได้ตื่นขึ้นมาเช้าวันหนึ่งแล้วรู้ได้ทันทีว่าควรทำอะไร แต่พวกเขาเริ่มจากวิธีคิดและอุปนิสัยต่างหาก
วิธีคิดและอุปนิสัยที่ดีจะเอื้อให้คุณเข้าถึงไอเดียดีๆ รู้จักผู้คน หรือทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า จนค่อยๆ ปูทางให้คุณทีละขั้น เปิดทางให้คุณทีละเส้น ไปสู่ความสำเร็จในที่สุด คุณจะเริ่มเปลี่ยนชีวิตได้ก็ต่อเมื่อคุณเปลี่ยนตัวคุณเองก่อน
หนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People คือคัมภีร์ในการสร้างนิสัยเพียง 7 อย่างที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณ การันตีด้วยยอดขาย 25 ล้านเล่มทั่วโลก
เป็นคนเก่งได้เปรียบหนึ่งปี ทัศนคติดีได้เปรียบตลอดชีวิต
สตีเฟน โควี่ ได้ศึกษาทฤษฎีความสำเร็จย้อนอดีตตั้งแต่ 200 ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน เขาพบว่ามี 2 เส้นทางที่คนคนหนึ่งจะประสบความสำเร็จ
1. เส้นทางแรกคือคุณพัฒนาทักษะให้เก่งในเรื่องที่คุณอยากเก่ง เช่น ถ้าคุณอยากเป็นที่รักของทุกคน คุณอาจจะเรียนเทคนิคการพูดหรือศึกษาวิธีแสดงท่าทางให้น่ารัก
คนส่วนใหญ่เลือกวิธีนี้เพราะมันฟังดูง่าย ถ้าคุณอยากมีสุขภาพดีก็ให้ศึกษาวิธีสุขภาพดี ถ้าอยากเป็นที่รักก็ให้ศึกษาวิธีพูดกับคนอื่น ถ้าอยากรวยก็แค่เรียนวิธีเล่นหุ้น ฟังดูเป็นเหตุเป็นผล ตรงไปตรงมา
แต่การพัฒนาทักษะนั้นจะพาคุณไปได้ไกลถึงแค่จุดหนึ่งเท่านั้น มันไม่ยั่งยืน และในที่สุดธาตุแท้ของคุณจะเผยออกมา จนกลบ “ทักษะ” เหล่านั้นไม่ช้าก็เร็ว
2. เส้นทางที่สองคือการปรับทัศนคติ มันคือการปรับนิสัย ระบบความเชื่อ และมุมมองของคุณต่อโลกใบนี้ ถ้าสิ่งที่คุณทำนั้นมาจากตัวตนที่แท้ของคุณ มันจะยั่งยืน คุณจะไม่จำเป็นต้องฝืนตัวเองให้เป็นคนที่คุณไม่ได้เป็น นิสัยนี้จะอยู่กับคุณตลอดไป
ถ้าคุณอยากเปลี่ยนชีวิตอย่างถาวร คุณต้องเปลี่ยนจากข้างใน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณอยากมีชีวิตแต่งงานที่มีความสุข คุณก็ต้องเปลี่ยนตัวเองเป็นคนที่อบอุ่น อยู่ด้วยแล้วมีความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่ศึกษาเทคนิคที่เน้นเฉพาะเปลือกอย่างวิธีพูดเพื่อให้คนอื่นชอบคุณมากขึ้น
เริ่มจากปรับทัศนคติก่อน
คุณจะมีวิธีคิดยังไงนั้นก็ขึ้นอยู่กับวิธีที่คุณมองโลก คนที่มองโลกในแง่ร้ายจะมองว่าการเดินหลงทางนั้นเป็นเรื่องเสียเวลา แต่คนที่มองโลกในแง่ดีจะมองว่าได้ผจญภัยเสียหน่อย เหตุการณ์เดียวกันแต่วิธีมองนั้นต่างกันมาก
ตัวตนของคนเราถูกกำหนดโดยวิธีที่คุณมองโลก ดังนั้นการเปลี่ยนตัวตนคุณให้ได้ถาวรนั้นจะตั้งเปลี่ยนตั้งแต่วิธีมองโลกของคุณ
มี 7 ข้อที่สำคัญที่สุด
เข้มแข็งและควบคุมชีวิตของคุณเอง
มองให้ไกลไปถึงจุดจบ
ทำเรื่องสำคัญที่ไม่ด่วน
คิดแบบ win-win
รับฟังคนอื่นด้วยความเข้าใจ
จงใจกว้างและเคารพคนอื่น ก่อนที่จะให้คนอื่นมาเคารพคุณ
คุณมีร่างกายเดียว ถ้ามันพังคุณก็จบ
มาเริ่มกันเลย
อุปนิสัยข้อแรก: เข้มแข็งและควบคุมชีวิตของคุณเอง
ให้คุณวาดวงกลมขึ้นมาหนึ่งวง ข้างในวงกลมคือสิ่งที่คุณควบคุมได้ ข้างนอกคือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้
ถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรสักอย่างขึ้น เช่น สภาพอากาศไม่ดี หรือมีใครทำไม่ดีกับเรา คนจำนวนมากจะพูดว่า “ฉันไม่ผิดสักหน่อย” หรือ “ทำไมฉันต้องมาเจออะไรแบบนี้ด้วย” นั่นคือการมองไปนอกวงกลม มุ่งความสนใจไปที่สิ่งที่คุณทำอะไรไม่ได้ และทำให้วงกลมหดลง
แต่คนที่ประสบความสำเร็จจะบอกว่า “งั้นทำแบบนี้…” หรือ “เรามาลองหาวิธีแก้ปัญหานี้กัน” นั่นคือการมองข้างในวงกลมว่ามีอะไรที่พอจะทำได้ ซึ่งจะไปขยาย “วงกลมสิ่งที่คุณควบคุมได้” ให้ใหญ่ขึ้น
วงกลมสิ่งที่คุณควบคุมได้นี้จะขยายหรือหดไปเรื่อยๆ ตามวิธีที่คุณมองสิ่งต่างๆ ยิ่งคุณให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณทำอะไรไม่ได้ วงกลมก็จะยิ่งหดลง ยิ่งคุณให้ความสำคัญกับสิ่งที่คุณควบคุมได้ วงกลมก็จะยิ่งขยายใหญ่ขึ้น
วิคเตอร์ แฟรงก์ เป็นนักโทษในค่ายกักกันเยอรมันในสงครามโลกครั้งที่ 2 ในค่ายทหารนั้นแทบไม่มีอะไรที่เขาทำได้เลย ทั้งการกินอยู่ อิสรภาพ บทลงโทษที่โหดร้าย ฯลฯ แต่เขาก็ไม่ได้สนใจนอกวงกลม เขากลับมองไปที่ข้างในวงกลมถึงวันที่เขาจะได้เป็นอิสระ เขาคิดถึงอนาคตที่จะได้ออกจากค่ายกักกันแล้วเล่าประสบการณ์ให้นักเรียนของเขาฟัง เขาเลือกจะมองที่ความสุขในอนาคตที่เขาควบคุมได้แทน
วิธีมองโลกของวิคเตอร์เป็นแรงบันดาลใจให้นักโทษคนอื่น และยังทำให้ผู้คุมทึ่ง ในที่สุดเขาก็รอดออกมาได้และกลายเป็นนักจิตวิทยาที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก
ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับชีวิตคุณ ให้คุณมุ่งไปที่การแก้ปัญหาแทนที่จะกล่าวโทษโชคชะตา
อุปนิสัยข้อที่สอง: มองให้ไกลไปถึงจุดจบ
ไม่ว่าคุณจะทำอะไรก็ตาม จริงๆ คุณต้องทำ 2 ครั้ง ครั้งแรกคุณทำในใจ ครั้งที่สองถึงจะทำจริง
เช่นถ้าคุณจะสร้างบ้าน ก่อนอื่นคุณต้องคิดในใจก่อนว่าจะสร้างบ้านแบบไหน คุณจะวางเลย์เอาท์ยังไง มีกี่ห้อง พื้นทำจากอะไร สวนขนาดเท่าไหร่ ฯลฯ คุณต้องคิดทุกอย่างตั้งแต่คุณยังไม่ทันวางอิฐก้อนแรก ถ้าคุณไม่คิดล่วงหน้าแล้วสร้างเลย บ้านของคุณจะออกมามั่ว คุณจะสร้างผิดจนค่าก่อสร้างบานปลาย คุณจะลืมเผื่อที่ไว้สำหรับบันไดขึ้นชั้นสอง หรือไม่ก็ลืมสร้างห้องน้ำในสนามบิน
ดังนั้น คุณต้องคิดให้ไกลถึงตอนจบก่อนที่คุณจะเริ่มทำอะไรสักอย่าง ยิ่งภาพในใจของคุณชัด ตอนทำจริงก็จะยิ่งง่าย ผลออกมาก็ดี
การคิดภาพในใจนั้นใช้ได้กับทุกเรื่อง นักวิ่งเก่งๆ จะคิดภาพตั้งแต่ตัวเองออกวิ่งจนไปถึงเส้นชัยคนแรก ตั้งแต่ยังไม่ออกวิ่งด้วยซ้ำ สุภาษิตเดนมาร์กกล่าวไว้ว่า “ถามทาง 2 ครั้ง ดีกว่าหลงทางครั้งเดียว” คุณจะไปได้ไกลกว่าถ้าคิดถึงผลลัพธ์ไว้ล่วงหน้า แทนที่จะวิ่งเข้าไปมั่วๆ แล้วผิดทาง
มองให้ไกลไปถึงจุดจบ (แบบเอามาใช้จริง)
คิดถึงอนาคตในอีก 3 ปีข้างหน้า แล้วสมมุติว่าคุณบังเอิญตายตอนนั้นพอดี ให้นึกภาพงานศพของตัวคุณ มีคนที่คุณรัก ครอบครัว เพื่อนฝูง เพื่อนร่วมงานที่สนิทกัน คราวนี้ให้คุณลองถามตัวเองว่า อยากให้คนเหล่านี้พูดถึงคุณยังไง? ให้พวกเขาจดจำอะไรเกี่ยวกับคุณได้บ้าง?
คนจำนวนมากใช้เวลาไปกับเป้าหมายที่ไม่ค่อยจะสำคัญ เพราะพวกเขาไม่เคยคิดว่าเป้าหมายจริงๆ คืออะไร พวกเขาคิดถึงแต่ประสิทธิภาพ แต่ไม่เคยมองไปที่ประสิทธิผล
ประสิทธิภาพคือการที่คุณทำงานได้เยอะแยะภายในเวลาที่จำกัด แต่นั่นมันไร้ค่าถ้าคุณไม่มีเป้าหมาย หรือไม่รู้ว่าทำไปทำไม มันก็เหมือนคุณปีนบันไดที่ยอดพาดอยู่ผิดกำแพง คุณก้าวหน้าไปเรื่อยๆ ก็จริง แต่มันผิดทาง
ประสิทธิผลคือการที่คุณเอาบันไดไปพาดกับกำแพงที่ถูกต้อง มันคือการที่คุณรู้เป้าหมายในชีวิตของตัวเอง และรู้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องทำสิ่งที่ตัวเองไม่ให้ความสำคัญ
แล้วคุณจะรู้ได้ไงว่าตัวเองอยากได้อะไร?
ให้ลองถามตัวเองเกี่ยวกับคำถามงานศพ แล้วเอาคำตอบนั้นเป็นตัวตั้งว่าคุณอยากเป็นคนแบบไหน อยากบรรลุอะไรในชีวิต ถ้าเขียนออกมาได้ยิ่งดี ยิ่งมีรายละเอียดเยอะคุณก็ยิ่งจะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ให้มองสิ่งนี้เป็น “ภารกิจชีวิต” ของคุณ
ตัวอย่างเช่น คุณอาจตั้งเป้าหมายว่า “ฉันให้ความสำคัญกับงานและครอบครัวพอๆ กัน ดังนั้นฉันจะพยายามทำทั้งสองอย่างอย่างสมดุล ฉันรักความยุติธรรม และจะมีส่วนร่วมทำให้สังคมนี้ดีขึ้น ฉันจะลงมือเพื่อให้ไปถึงเป้าหมาย และไม่ปล่อยชีวิตไปเรื่อยๆ ตามยถากรรม”
คุณจะเขียนอะไรก็ได้ คิดซะว่ามันเป็นเข็มทิศชีวิต ใช้เวลาสักหน่อยก็เขียนเสร็จแล้ว แต่พอเขียนเสร็จคุณอาจจะต้องกลับมาคิดทบทวนว่าควรปรับอะไรตรงไหนมั้ย และอาจจะกลับมาดูเป็นบางครั้งเมื่อเป้าหมายชีวิตเปลี่ยนไป
อุปนิสัยข้อที่สาม: ทำเรื่องสำคัญที่ไม่ด่วน
แบ่งสิ่งต่างๆ ในชีวิตเป็น 4 กล่อง
- เรื่องสำคัญ + ด่วน คือเรื่องที่คุณต้องทำตอนนี้เลย ไม่งั้นซวยแน่
- เรื่องสำคัญ + ไม่ด่วน เช่น กำหนดเป้าหมายชีวิต วางแผนอนาคต หรือสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว
- เรื่องไม่สำคัญ + ด่วน เช่น โทรศัพท์ดังตอนที่คุณกำลังยุ่ง
- เรื่องไม่สำคัญ + ไม่ด่วน สรุปคือเรื่องเสียเวลา
ทำเรื่องสำคัญก่อนเสมอ ส่วนเรื่องที่ไม่สำคัญสามารถรอได้ หรือไม่ก็ฝากให้คนอื่นทำแทน
สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องสำคัญ + ไม่ด่วน สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดชีวิตของคุณในระยะยาว และถ้าคุณทำสิ่งเหล่านี้ก่อน คุณจะเจอปัญหาเกี่ยวกับ “เรื่องสำคัญ + ด่วน” น้อยลงด้วย
คนส่วนใหญ่ไม่เคยสนใจ “เรื่องสำคัญ + ไม่ด่วน” ซึ่งทำให้พวกเขาเจอปัญหายุ่งยาก เช่น ผู้เขียนเคยทำงานร่วมกับผู้จัดการห้างสรรพสินค้า ซึ่งที่จริงการสร้างความสัมพันธ์กับเจ้าของร้านค้าควรจะเป็นเรืองที่สำคัญที่สุด แต่มันไม่ด่วน ดังนั้นเหล่าผู้จัดการจึงไม่สนใจ แล้วหันไปทำเรื่องที่ “สำคัญ+ด่วน” แทน
ตอนแรกเหล่าผู้จัดการใช้เวลา 95% ไปกับเรื่อง “สำคัญ+ด่วน” อย่างรายงาน ยอดขาย หรือสัญญา แต่เมื่อผู้เขียนแนะนำให้พวกเขาทำเรื่อง “สำคัญ+ไม่ด่วน” ด้วย ทั้งค่าเช่าและความพึงพอใจของเจ้าของร้านก็เพิ่มขึ้น
ขั้นแรกในการสร้างทัศนคติที่ดีคือการคิดเรื่อง “สำคัญ+ไม่ด่วน” ที่คุณอาจจะละเลยมาตลอด
อุปนิสัยข้อที่สี่: คิดแบบ win-win
เวลาคุณพูดคุยหรือเจรจากับคนอื่น คุณอยากให้ผลลัพธ์ออกมาแบบไหน?
คนส่วนใหญ่มองว่าถ้ามีคนได้ ก็ต้องมีคนเสีย พวกเขามองการเจรจาเป็นการแข่งขัน ถ้าพวกเขาอยากชนะ ก็ต้องทำให้คนอื่นแพ้
แต่สถานการณ์ส่วนใหญ่ในชีวิตไม่จำเป็นต้องเป็นการแข่งขัน ถ้าคุณคิดแบบทุกคนได้ประโยชน์ (win-win) คุณเองนั่นแหละที่จะได้ประโยชน์มากกว่าคิดแบบ “ฉันต้องชนะและคนอื่นต้องแพ้” (win-lose)
ทำไมล่ะ? เพราะคนส่วนใหญ่ในโลกคิดแบบ win-lose และถ้าคนสองคนที่คิดแบบ win-lose มาเจอกัน พวกเขาจะแข่งกันเองจนแพ้ทั้งคู่ จะเกิดการต่อสู้ชิงดีชิงเด่นจนเสียหายทั้งสองฝ่าย แล้วพอเรื่องจบก็จะมีมือที่สามเข้ามาโฉบทุกอย่างไป ไม่เหลืออะไรให้คุณ
นอกจากนี้ คุณจะไม่มีทางเป็นมิตรที่ดีกับคนที่คุณพยายามแข่งขันด้วย ถ้าคุณทำธุรกิจแล้วคิดแบบ win-lose คุณจะพยายามเอากำไรจากลูกค้าให้มากที่สุด การทำแบบนี้อาจทำให้คุณได้กำไรในระยะสั้น แต่ครั้งถัดไปลูกค้าอาจจะไปซื้อจากคนอื่นก็ได้ ฉะนั้นในระยะยาวคุณก็จะไม่เหลือใคร
ในทางกลับกัน ถ้าคุณคิดแบบ win-win คุณจะเป็นที่รักของลูกค้าโดยที่คุณไม่ต้องแม้แต่จะพยายาม นั่นเพราะทุกครั้งที่คุณคุยกับลูกค้า คุณจะปฏิบัติโดยให้ลูกค้า win โดยอัตโนมัติ ลูกค้าจะเห็นได้เองว่าคุณทำธุรกิจตรงไปตรงมา และจะกลับมาซื้อของจากคุณอีก ในระยะยาวคุณจะมีกำไรเพิ่มขึ้น
วิธีเริ่มคิดแบบ win-win ก็คือให้คิดถึงความสัมพันธ์อะไรสักอย่างที่คุณอยากให้เป็นแบบ win-win แล้วลองจินตนาการว่าคุณเป็นอีกฝั่ง คิดว่าอีกฝั่งต้องการอะไรถึงจะรู้สึกดี จากนั้นก็พูดคุยกันแบบที่ทั้งคุณและเขาจะชนะทั้งคู่
คิดแบบ win-win (แบบเอามาใช้จริง)
การคิดแบบ win-win จะช่วยสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น ให้คุณมองแต่ละความสัมพันธ์เป็น “บัญชีความเชื่อใจ” ยิ่งคุณทุ่มเทเวลาและความรู้สึกดีๆ ให้มัน บัญชีความเชื่อใจก็จะยิ่งเติบโต ถ้าคุณมีแต้มความเชื่อใจอยู่เยอะ ทุกคนก็จะยืดหยุ่นให้กันและกัน ถ้ามีอะไรเข้าใจผิดก็เคลียร์กันได้ง่าย
ในทางกลับกัน ถ้าทั้งคู่ไม่มีความเชื่อใจให้กันเลย ความสัมพันธ์นั้นก็เหมือนสนามระเบิด คุณจะต้องระวังทุกคำพูดและการกระทำ เพื่อไม่ให้ทะเลาะกัน
คุณจะเพิ่มบัญชีความเชื่อใจได้จากการแก้ปัญหาแบบ win-win ทำตามสัญญา หรือรับฟังความคิดเห็นอย่างจริงจังจากอีกฝ่าย แต่บัญชีความเชื่อใจจะหดลงถ้าคุณแก้ปัญหาแบบ win-lose ผิดสัญญา หรือรับฟังอีกฝ่ายแบบขอไปที
วิธีเพิ่มบัญชีความเชื่อใจอีกอย่างคือความจริงใจ อย่านินทาลับหลัง อย่าเอาความลับคนอื่นมาแฉ และอย่าหักหลังมิตรสหาย สิ่งเหล่านี้จะพิสูจน์ว่าคุณเป็นคนที่เชื่อใจได้
อุปนิสัยข้อที่ห้า: รับฟังคนอื่นด้วยความเข้าใจ
จงเปลี่ยนความคิดจาก “ฉันรับฟังคนอื่นเพื่อจะได้ตอบคำถามเขาได้” เป็น “ฉันรับฟังคนอื่นเพื่อให้เข้าใจคนที่อยู่ตรงหน้าจริงๆ”
นึกภาพว่าคุณไปหาหมอแล้วก็เล่าอาการให้ฟัง หมอพยักหน้าแบบขอไปทีแล้วก็บอก “OK เข้าใจแล้ว” แล้วก็สั่งยาอะไรก็ไม่รู้ให้คุณ
นึกภาพคุณไปตัดแว่นแล้วช่างก็ไม่ได้วัดสายตาของคุณ จากนั้นก็หยิบแว่นของตัวเองมาให้เพราะ “เขา” ใส่แว่นอันนั้นแล้วมองเห็นชัดดี คุณใส่ก็น่าจะเห็นชัดเหมือนกัน มั้ง?
คุณคงไม่เชื่อคำแนะนำของคนพวกนี้
ในขีวิตจริงก็เช่นกัน คนจำนวนมากไม่ได้รับฟังคนอื่นจริงๆ หรอก แค่ฟังเรื่องราวแบบขอไปทีแล้วก็ให้คำแนะนำห้วนๆ โดยเอาสถานการณ์ของตัวเองเป็นตัวตั้ง ซึ่งมันช่วยอะไรอีกฝ่ายไม่ได้จริงๆ เพราะมันแสดงออกอย่างชัดเจนว่าคุณไม่ได้เข้าใจสถานการณ์ของเขาเลย
ดังนั้นถ้าคุณอยากให้คนอื่นเคารพคุณ คุณต้องทำความเข้าใจเขาก่อน
มืออาชีพด้านการพูดรู้ดีว่าคนเราเล่าสิ่งต่างๆ โดยใช้คำพูดเพียง 10% ที่เหลืออีก 90% อยู่ที่น้ำเสียงและท่าทาง คุณดูหนังเข้าใจถึงแม้จะปิดเสียง เพราะท่าทางของตัวละครสามารถสื่อสารได้ แต่ถ้าคุณปิดตาและฟังเสียงแบบหุ่นยนต์พูด คุณจะไม่เข้าใจ เพราะมันมีแต่คำพูด ไม่มีอารมณ์แม้แต่น้อย
การที่คุณจะเข้าใจว่าคนอื่นสื่ออะไร คุณต้องตั้งใจฟังอารมณ์ความรู้สึกที่ซ่อนอยู่ด้วย
อุปนิสัยข้อที่หก: จงใจกว้างและเคารพคนอื่น ก่อนที่จะให้คนอื่นมาเคารพคุณ
ทุกคนมองโลกต่างกันไป นั่นทำให้ทุกคนมีจุดแข็งจุดอ่อนไม่เหมือนกันด้วย
คุณเองก็มีจุดอ่อน คุณทำทุกอย่างไม่ได้ บ่อยครั้งที่การบรรลุเป้าหมายของคุณก็ต้องพึ่งพาคนอื่น
คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่นำจุดแข็งของแต่ละคนมาผสานกันได้ ถึงแม้ว่าแต่ละคนมีพื้นฐานวิธีคิดแตกต่างกันอย่างมากก็ตาม
การที่คนทั้งทีมร่วมมือเป็นหนึ่งเดียวหมายความว่า ทุกคนฟังความคิดเห็นของคนอื่น พยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน และเอาความคิดเห็นจากคนอื่นมาเสริมให้ทั้งทีมดีขึ้น ที่สำคัญคือ ไม่มีใครมาเสียเวลาทะเลาะกัน ผลคือความสำเร็จของทุกคน
เดวิด ลิเลียนทอล เป็นอดีตหัวหน้าคณะกรรมการด้านนิวเคลียร์ของอเมริกา องค์กรสำคัญขนาดนี้ย่อมมีคนเก่งและผู้มีอิทธิพลอยู่เยอะ ทุกคนต่างมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่คอยขัดแข้งขัดขากัน แต่เดวิดพาทั้งทีมให้เป็นหนึ่งเดียวกันได้โดยจัดประชุมให้ทุกคนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เดวิดถูกวิจารณ์อย่างหนักว่าทำเรื่องเสียเวลา แต่เมื่อทั้งทีมเชื่อใจกัน ก็สามารถคิดแก้ปัญหาได้ดีถึงแม้จะคิดเห็นต่างกัน
คุณจะร่วมมือกับคนอื่นได้ก็ต่อเมื่อคุณใจกว้างและมองการสนทนาเป็นการผจญภัย ไม่มีอะไรได้ดั่งใจคุณทุกอย่าง เพราะคุณควบคุมคนอื่นไม่ได้ แต่คุณควรยอมรับสิ่งที่คนอื่นเป็นและพยายามสานประโยชน์ซึ่งกันและกัน
อุปนิสัยข้อที่เจ็ด: คุณมีร่างกายเดียว ถ้ามันพังคุณก็จบ
ถ้าคุณไม่ดูแลตัวเอง ทุกสิ่งที่คุณสร้างมา ทุกความสำเร็จที่คุณไขว้คว้ามาได้ จะอายุไม่ยืน เพราะคุณจะไม่เหลือแรงไปรักษาสิ่งดีๆ ที่พาคุณมาถึงจุดนี้ได้
ร่างกายคุณก็เหมือนขวาน ถ้าคุณผ่าฟืนด้วยขวานด้ามเดิมโดยไม่หยุดลับขวาน ในที่สุดคุณจะเหลือแต่ขวานทื่อๆ ที่ผ่าไม่ได้แม้กระดาษแผ่นบาง ที่แตกต่างกันคือ คุณซื้อขวานใหม่ได้ แต่คุณเปลี่ยนร่างกายไม่ได้
การดูแลรักษาตัวเองมี 3 ด้าน
- ดูแลร่างกาย ด้วยการออกกำลังกาย ทานอาหารที่มีประโยชน์ และอย่าเครียดโดยไม่จำเป็น
- ดูแลจิตใจ เช่นทำสมาธิ หรือไม่ก็คิดทบทวนเป้าหมายในชีวิตอย่างสม่ำเสมอ
- ดูแลอารมณ์และสังคม ด้วยการพยายามเข้าใจคนอื่น และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนรอบตัว
คนส่วนใหญ่บอกว่าไม่มีเวลา แต่สิ่งเหล่านี้จะคุ้มค่าในระยะยาว เพราะถ้าคุณไม่ทำ คุณจะอายุสั้นและไม่เหลือเวลาไปทำงานที่คุณอยากทำได้
สรุปสุดท้ายก่อนวาง The 7 habits of highly effective people
ถ้าคุณอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้วจำอะไรไม่ได้เลย ผมขอสรุปนิสัย 7 ข้อที่จะเปลี่ยนชีวิตคุณไปตลอดกาลดังต่อไปนี้ (จำให้ได้นะครับ)
- ลุกขึ้นควบคุมชีวิตของตัวเอง อย่าโทษสังคมหรือสิ่งรอบข้าง เพราะโทษไปก็ไม่ได้อะไร คุณต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงมันชีวิตถึงจะดีขึ้น
- มีเป้าหมายในชีวิต อย่าไหลไปเรื่อยๆ ถ้าทำงานก็จงถามตัวเองว่าอยากได้อะไร แล้วลงมือให้ไปถึงเป้าหมายนั้น
- ทำสิ่งที่สำคัญที่สุด อย่าไปสนใจสิ่งที่ไม่สำคัญ และหาเวลาในการทำ “สิ่งที่สำคัญแต่ไม่ด่วน” เพราะมันจะส่งผลระยะยาวกับชีวิต
- คิดแบบ win-win เพราะไม่งั้นคุณจะมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนอื่น และคุณจะไม่ได้อะไรเลย
- รับฟังและทำความเข้าใจคนอื่นก่อน แล้วคุณจะได้รับความเชื่อใจกับความเคารพเอง
- ร่วมมือกับคนอื่น เพราะคุณทำทุกอย่างไม่ได้ บ่อยครั้งที่การบรรลุเป้าหมายของคุณก็ต้องพึ่งพาคนอื่น
- ดูแลตัวเอง เพราะคุณจะทำงานได้ดีก็ต่อเมื่อสุขภาพแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ
แนะนำให้อ่านเพิ่มเติม
อยากอ่านหนังสือฉบับเต็ม The 7 Habits of Highly Effective People คลิกเลยยยย