เทคโนโลยีเปลี่ยนฉับพลัน 3 ทักษะสำคัญ ในการเตรียมทัพ DHAS

ทุกๆ เช้าที่ตื่นมา ถ้าไม่เจอว่าโซเชียลมีเดียปรับเพิ่มฟีเจอร์ OS อัพเดท สมาร์ทโฟนออกรุ่นใหม่ ก็น่าจะเจอข่าว AI อัพสกิลอะไรที่ล้ำขึ้นทุกวัน ในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา มนุษย์เราเผชิญหน้ากับการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีอย่างรวดเร็วแบบที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เร็วจนยังไม่ทันจะคุ้นเคยกับสิ่งก่อนหน้า อ้าว! อันใหม่ก็มาอีกแล้ว

เพื่อก้าวสู่ ปี 2020 อย่างมั่นใจ วันนี้ HRD Vshared ขอต้อนรับ เพื่อนพนักงาน DHAS ทุกคนสู่ VUCA World โลกที่เทคโนโลยีทำให้ทุกมิติในชีวิตเราเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว คำถามคือเราจะ เตรียมทัพ DHAS เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างไร

หลายคนจำได้ ต้นปี 2019 HRD Vshared ได้นำเสนอบทความ VUCA World ความท้าทายสำหรับผู้นำยุคใหม่  วันนี้เรามา Recap กันหน่อย VUCA เป็นคำย่อของ ามผันผวน (volatility) ความไม่แน่นอน (uncertainty) ความสลับซับซ้อน (complexity) และความคลุมเครือ (ambiguity) เดิมทีเป็นคำที่ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้เรียกสถานการณ์ในสงครามที่แอฟริกาและอิรัก ที่สับสนและผันผวน แต่ตอนนี้ถูกนำมาใช้กับโลกปัจจุบันที่อะไรๆ ก็สับสนและผันผวนราวกับอยู่ในสงคราม

ความเปลี่ยนแปลงที่แสนจะรวดเร็วนี้ ส่งผลให้สภาพสังคม การเมือง และเศรษฐกิจที่เราคุ้นเคยเปลี่ยนไปด้วยเหมือนกัน อย่างกรณีที่โซเชียลมีเดียมีผลกับการเมืองและการเลือกตั้งในหลายๆ ประเทศ หรือทำให้ธุรกิจบางประเภทต้องปรับตัวหรือล้มหายตายจาก แถมยังมีผลต่อเนื่องกับอารมณ์ความคิดและการใช้ชีวิตของคนทั่วไปอย่างเราๆ

ผลกระทบของความเร็วด้านเทคโนโลยีเหล่านั้น นำไปสู่การที่เราได้ยินคำว่า ‘disruption’ อยู่บ่อยๆ บางคนก็มองมันว่าเป็นอุปสรรค ขณะที่อีกหลายคนมองว่าเป็นความท้าทาย แต่ไม่ว่ามันจะเป็นอะไร ที่แน่ๆ เราทุกคนต้องเผชิญหน้ากับมัน และที่สำคัญ เราจำเป็นต้องมีทักษะในการเผชิญหน้า ถ้าเราอยากจะเป็นผู้อยู่รอด

Karthik Krishnan, Global CEO ของ Britannica Group บริษัทผู้จัดทำ Encyclopedia ชื่อดังของโลก พูดถึงการอยู่รอดในยุค disruption นี้ว่า “หัวใจสำคัญในการอยู่รอด คือการเรียนรู้และลงมือให้เร็ว” (“Rapid learning and rapid execution are keys to staying ahead.”) โดยได้พูดถึง 3 ทักษะที่เราจำเป็นต้องมีสำหรับยุคนี้

1. เรียนรู้และปรับใช้ให้เร็ว (learning agility)

Alvin Toffler นักเขียนชาวอเมริกันเคยเขียนไว้ในหนังสือ Future Shock ตั้งแต่ปี ค.ศ.1970 ว่า “คนที่ไม่รู้หนังสือในศตวรรษที่ 21 จะไม่ได้หมายถึงผู้ที่ไม่สามารถอ่านออกเขียนได้อีกต่อไป แต่จะหมายถึงคนที่ไม่สามารถเรียนรู้ ละทิ้งความรู้เดิม แล้วเริ่มเรียนรู้ใหม่ต่างหาก (learn / unlearn / relearn)”

เราอยู่ในยุคที่ยืนอยู่จุดเดิมก็เหมือนเดินถอยหลัง เพราะโลกกำลังผลักทุกอย่างไปข้างหน้าเสมอ ความสามารถในการเรียนรู้และความอยากรู้อยากเรียน รวมถึงการนำไปปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพกับสถานการณ์ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นมากสำหรับยุค disruption ที่อะไรต่อมิอะไรเปลี่ยนแปลงได้ทุกวัน ความสงสัยจะช่วยกระตุ้นให้เราออกไปหาคำตอบ หรือสร้างอะไรบางอย่างขึ้นมาได้

Harvard Business Review ได้พูดถึงการพัฒนา learning agility ไว้ว่า ต้อง 1) innovating : ตั้งคำถามกับสิ่งที่มีและมองหาวิธีอื่นที่แตกต่างเสมอ 2) performing : เรียนรู้และลงมือทำให้เร็ว 3) reflecting : ทบทวนตัวเองบ่อยๆ และเรียนรู้จากข้อผิดพลาดเป็นประจำ 4) risking : กล้าที่จะทดลองอะไรใหม่ๆ และอยู่กับกลุ่มคนที่หลากหลาย

ขณะเดียวกัน งานวิจัยเรื่อง ‘Learning Agility’ ก็บอกด้วยว่า คนที่เป็น ‘agile learner’ จะมีลักษณะร่วมบางอย่างคือ ค่อนข้าง extrovert คิดเป็นระบบ ยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายและเร็ว มองโลกในแง่ดี และเปิดรับความคิดเห็นของคนอื่น

 

2. มีหัวใจที่แข็งแรง ล้มแล้วลุกให้ไว (resilience)

ดูก็รู้ว่าอยู่ไม่ง่าย กับโลกที่มีอะไรเปลี่ยนไปได้แทบทุกนาที ความสามารถในการรับมือกับแรงกดดันและความเครียด รวมถึงความสามารถที่จะฟื้นตัวจากสถานการณ์ที่ยากลำบาก โดยยังคงความมั่นใจและทัศนคติที่เป็นบวกได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในยุค disruption ปัญหาและความท้าทายอาจจะมาสะกิดเรียกเราได้ตลอดเวลา ความสามารถที่จะฟื้นตัวเมื่อตกอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก มีแรงกดดันและความเครียดสูง โดยยังคงความมั่นใจและทัศนคติที่เป็นบวกที่จะฟื้นตัวฟื้นใจกลับมาได้

Karthik ได้แนะนำวิธีการพัฒนาทักษะนี้ไว้ว่า 1) เรียนรู้เทคนิค cognitive reframing หรือการเปลี่ยนความคิดให้เหตุการณ์แง่ลบที่เกิดขึ้น เป็นโอกาสในการเรียนรู้ 2) เลิกความคิดที่ว่าเราตกเป็นเหยื่อ และพยายามเลี่ยงคำถามที่ว่า “ทำไมเรื่องนี้ต้องเกิดขึ้นกับฉัน?” เพราะมันไม่ได้ช่วยให้อะไรดีขึ้น 3) ทำสมาธิ ฝึกสติและใจให้นิ่ง

 

3. มองโลกในแง่ดี แต่ไม่ใช่แง่เดียว (grounded optimism)

การมองโลกในแง่ดีอาจจะทำให้เราเห็นแต่ผลลัพธ์ที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้น แต่ในโลกยุค disruption เราจำเป็นต้องเอาความจริง และผลลัพธ์ที่เลวร้ายที่สุด ใส่เข้าไปในสมการความคิดของเราด้วย ดังนั้น grounded optimism คือการหาหนทางที่เป็นไปได้จริง จับต้องได้ ผ่านแนวความคิดเชิงบวก เพื่อให้เรามีทั้งกำลังใจและหนทางที่จับต้องได้ สำหรับเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่เกิดขึ้น

Karthik ได้แนะนำวิธีการพัฒนา grounded optimism ว่า 1) หมั่นมองหาด้านบวกในทุกๆ เรื่อง 2) อยู่กับคนทั้งแบบที่มองโลกในแง่ดี และมองโลกบนพื้นฐานความจริง 3) มีสติรู้ตัวเสมอ

จะเห็นว่าทักษะทั้งสามอย่างที่ Karthik แนะนำ มีทั้ง IQ (interlectual intelligence), EQ (emotional intelligence) และ RQ (resilience quotient) เพราะในยุคนี้ แค่ฉลาดอย่างเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป