คุณภาพคือความอยู่รอด : VUCA World
เนื่องจากในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของ เทคโนโลยี การแข่งขัน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ เศรษฐกิจ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ทำให้องค์กรต่างๆ ได้รับผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญ สถานการณ์เหล่านี้เรียกว่า “VUCA World” ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญสำหรับผู้นำองค์กรที่ต้องเข้าใจและเตรียมพร้อมรับมือให้ทันสถานการณ์
VUCA world นี้ยังสามารถรวมถึง การเปลี่ยนแปลงด้านนวัตกรรมอย่างพลิกผัน (Disruptive innovation) ด้วย จนมีคำกล่าวหนึ่งว่า “รีบเปลี่ยนแปลงเสียก่อน มิฉะนั้นคุณก็อาจจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง”
วันนี้ HRD VShared ขอแชร์มุมมองและประสบการณ์ รวมทั้งการค้นคว้าเพิ่มเติมจากสื่อต่างๆ เพื่อแบ่งปันแนวทางการรับมือกับ VUCA world เพื่อให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างไร
“VUCA World” คืออะไร
“VUCA World” เป็นคำย่อของ ความผันผวน (Volatility) ความไม่แน่นอน (Uncertainty) ความสลับซับซ้อน (Complexity) ความคลุมเครือ (Ambiguity) “VUCA World” เป็นคำที่ทางกองทัพสหรัฐอเมริกาใช้เรียกสถานการณ์ในสงครามที่อัฟริกา และอิรัก ต่อมานำมาใช้ในธุรกิจ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาวะแวดล้อมเศรษฐกิจในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเป็นความท้าทายของผู้นำในองค์กรที่ต้องทำความเข้าใจและปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของการเมืองเศรษฐกิจสังคมและสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน
ในสถานการณ์ “VUCA World” นั้น ดูเหมือนว่าเราจะต้องเปลี่ยนแปลงแนวทางที่อิงกับการ “แก้ปัญหาและการวางแผนเพื่อลดความไม่แน่นอน” ไปสู่ โลกที่มีการขับเคลื่อนอย่างรวดเร็ว ด้วย “การมีส่วนร่วม การพัฒนาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดนิ่ง และรวดเร็วในการตัดสินใจ ตลอดจนการทำงานเชิงรุก” ผู้นำในยุคดิจิตอลนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลง (Change) การคิดเชิงนวัตกรรม (Innovation and Thinking different) เพื่อให้การทำงานสามารถรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายละเอียดของ “VUCA World” มีอะไรบ้าง
-
V- Volatility คือ ความผันผวนสูง การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว สถานการณ์หรือสภาวะแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงสูง และรวดเร็ว ไม่สามารถคาดเดาหรือทำนายได้ หรือเป็นสถานการณ์เปลี่ยนฉับพลัน แบบตั้งตัวไม่ทัน หรือรวดเร็วมาก เช่น ซึ่งในปัจจุบันคือ Disruptive innovation นวัตกรรมที่พลิกผัน อัตราการเปลี่ยนแปลงสูง (High rate of change)
-
U-Uncertainty คือ สภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง คาดการณ์ได้ยาก ขาดความชัดเจน ไม่สามารถหาข้อมูลที่ชัดเจน มายืนยันในแต่ละสถานการณ์ได้ ทำให้ยากต่อการตัดสินใจ เพราะโลกปัจจุบันมีความเปลี่ยนแปลงไม่แน่นอนสูง (Unclear about the present)
-
C-Complexity คือ ความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆเชิงระบบ มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนต่อการตัดสินใจ (Multiple key decision factors)
-
A-Ambiguity คือ ความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ไม่สามารถคาดเดาผลที่จะเกิดขึ้นได้ชัดเจน (Lack of clarity about meaning of an event)
จากสภาวะ “VUCA world” ที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จนเหมือนเป็นเรื่องธรรมดาๆ บางครั้ง เราเรียกว่า “VUCA world” ว่า “The New Normal หรือ ความเป็นปกติแบบใหม่” จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่หัวหน้าและผู้นำในองค์กรต้องสามารถเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง สร้างศักยภาพ ความสามารถ และพัฒนาพนักงานให้มีความพร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงตลอดจนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้ภายใต้สภาวะ The New Normal หรือ ความเป็นปกติแบบใหม่
ความท้าทาย 3 ประการเกี่ยวกับ VUCA World
1. ไม่มีใครชอบ VUCA World
คนส่วนใหญ่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง เพราะการเปลี่ยนแปลงเป็นการทำให้ พื้นที่ที่รู้สึกปลอดภัยและสะดวกสบาย (Comfort Zone) ได้ถูกสั่นคลอนไป ความมั่นคง มั่นใจในพื้นที่คุ้นชินหายไป เกิดความกลัว (Fear) เพราะการเปลี่ยนแปลงจากฝั่งสะดวกสบาย (Comfort) หรือ SCSC กลายเป็นฝั่งไม่สบาย (discomfort) หรือVUCA แน่นอนว่าไม่มีคนชอบแน่อนอน
2. คนที่ความสามารถและประสิทธิภาพต่ำจะอยู่ยากใน VUCA
เพราะสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันที่มีการแข่งขันกันสูง ทำให้ทุกคนต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้แต่องค์กรเองก็ต้องมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง องค์กรที่คนที่มีความสามารถและประสิทธิภาพต่ำอยู่มาก หมดยุคยักษ์ใหญ่เป็นเสือกินนอนแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทำให้องค์กรเล็กๆได้เปรียบ ส่วนองค์กรใหญ่ๆจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างต้องใช้เวลาทำให้องค์กรไม่สามารถแข่งขันได้ จะเห็นได้จากหลายๆองค์กรใหญ่ที่ค่อยๆล้มหายตายจากวงการธุรกิจ จนมีคำกล่าวหนึ่งว่า “รีบเปลี่ยนแปลงเสียก่อน มิฉะนั้นคุณก็อาจจะถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลง” ถ้าไม่เปลี่ยนแปลง ไม่พัฒนาตัวเอง พนักงานและองค์กร จะไม่สามารถรับมือกับสภาวะการเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพ และนี่เป็นโจทย์ใหญ่ของผู้นำในองค์กรด้วย
3. ความไม่มั่นคงแบบ VUCA World ทำให้ ความผูกพันของพนักงาน (Employee Engagement) ลดลง
เมื่อพนักงานรู้สึกว่า สถานการณ์ในองค์กรที่มีการเปลี่ยนแปลง ไม่ชัดเจน สลับซับซ้อนจะทำให้เกิดความไม่มั่นใจ รู้สึกปลอดภัยในจิตใจของพนักงาน ทำให้ระดับความผูกพันของพนักงานเริ่มลดลง และหาที่ๆใหม่ที่ทำให้รู้สึกมั่นคงและปลอดภัยมาทดแทน ดังนั้นถ้าจะทำให้พนักงานมั่นใจ การพัฒนาศักยภาพ ทักษะ ความสามารถของพนักงาน จะลดความกลัว ความไม่มั่นคงออกไป เพราะเมื่อคนเก่ง องค์กรแกร่ง องค์กรจะก้าวข้ามสถานการณ์ VUCA world ไปได้
แนวทางรับมือกับ VUCA world สำหรับผู้นำองค์กร ผู้นำทีม
จะต้องเตรียมตัวใน 4 ด้านหลักๆดังนี้คือ
1. วิสัยทัศน์ (Vision)
ผู้นำทางธุรกิจ ต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้สามารถตัดสินได้โดยอย่างรวดเร็ว และตอบสนองได้อย่างเหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนอย่างรวดเร็ว โดย
-
การสื่อสาร (COMMUNICATE) กับทีมงาน และคนในองค์กร การสื่อสารที่ชัดเจน และทำให้ทุกคนเห็นเป้าหมาย และวิสัยทัศน์ขององค์กรให้เป็นภาพเดียวกัน และรู้ว่าจะก้าวเดินไปในทิศทางใด
-
เชื่อมั่น (Belief) เชื่อมั่นในตัวเองและผู้อื่น และให้การสนับสนุนการเติบโตทั้งทางความคิด (Growth Mindset) และการทำงานสไตล์ใหม่ๆในทางเดียวกับวิสัยทัศน์และกลยุทธ์ขององค์กร
-
มุ่งมั่น (Focus) มุ่งมั่นและมั่นใจว่าทีมของคุณมีความสามารถและก้าวไปด้วยกัน กับทิศทางขององค์กร
2.การทำความเข้าใจ (Understanding)
ทำความเข้าใจจุดแข็ง จุดอ่อนขององค์กร ขีดความสามารถและกลยุทธ์ขององค์กร ผู้นำจำเป็นต้องเข้าไปมีส่วนร่วมกับพนักงาน ลูกค้า และ stakeholder เพื่อรับฟังข้อมูลและความคิดเห็นที่เสริมสร้างมุมมองใหม่เพื่อสามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วได้ โดย
-
อยากรู้อยากเห็น (CURIOSITY) – เรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ใช้คำถามปลายเปิด หรือคำถามแบบโค้ช เปิดใจ stakeholder เพื่อให้ได้ข้อมูลใหม่ๆมาพัฒนาสิ่งใหม่ๆในองค์กร
-
เอาใจใส่ (EMPATHY)- ใส่ใจกับทีมงาน เพื่อให้ได้ใจ และการร่วมมือร่วมใจอย่างต่อเนื่อง
-
เปิดใจ (OPEN MIND) – เปิดใจ เปิดรับแนวคิดใหม่ ๆ เพื่อได้ไอเดียเชิงสร้างสรรค์มาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
3. ชัดเจนกระจ่าง (Clarify)
ในยุคที่ระบบและองค์กร สภาพแวดล้อมที่มีความซับซ้อนที่มากขึ้นเรื่อยๆ มีปัจจัยมากมายและซับซ้อนต่อการตัดสินใจ (Multiple key decision factors) การสร้างเสริมความชัดเจนในนโยบายและกลยุทธ์จึงเป็นแนวทางที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง เพื่อให้การตัดสินใจของผู้นำทันต่อเหตุการณ์ โดย
-
การจัดระบบให้เรียบง่าย (SIMPLIFY) – ลดความซับซ้อนของระบบ และเน้นประเด็นหลักๆที่เป็นแก่นขององค์กรจริงๆ ไม่เสียเวลากับระบบหรือขั้นตอนที่ไม่สร้างคุณค่าให้กับองค์กร
-
ตระหนักรู้ (Awareness) – ใช้สัญชาตญาณ และประสบการณ์ในการทำงาน และตัดสินใจ
-
การคิดเชิงระบบ (SYSTEMS THINKING) เพื่อให้ได้มุมมองแบบองค์รวม แล้วแยกย่อยออกมาเป็นส่วนต่างๆเพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน
4. ความว่องไว (Agility) ต่อการเปลี่ยนแปลง
ผู้นำที่ยืดหยุ่นและมีการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว จะสามารถรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินได้ โดยที่ยังคงเป้าหมายและวิสัยทัศน์ขององค์กรยังอยู่ โดย
-
การตัดสินใจ (DECISIVENESS) – ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและตัดสินใจด้วยความมั่นใจ
-
การพัฒนานวัตกรรม (innovation) – เรียนรู้ปัญหาของลูกค้า ใส่ใจกับผู้คน แล้วพัฒนานวัตกรรมใหม่ออกมาเพื่อแก้ปัญหาเหล่านั้น
-
การให้อำนาจ (EMPOWER) – การทำงานสร้างเครือข่าย การทำงานร่วมกัน และ การสนับสนุนทำให้ผู้อื่นสามารถทำงานได้อย่างยอดเยี่ยม